articles de dao

welcome to articles de dao. read...and travel on your own.

Friday, May 30, 2008

ภาษาบ้านๆ

ครอบครัวของข้าพเจ้านั้น มีสำเนียงลาวสามสายหลักเป็นพื้น พ่อเป็นลาวสกลฯ สำเนียงเหน่อแหลม แม่และยายเป็นสายหนองคาย เสียงใสชัดเจน ศัพท์แสงคล้ายผู้ดีเก่าลาวลึก ตาเป็นลาวสารคามเสียงห้วนหนักแข็ง แต่ปัจจุบัน หลังจากที่ย้ายมาอยู่อุดรได้กว่ายี่สิบปี สำเนียงลาวอุดรแบบคนในเมืองนั้นกลายมาเป็นสำเนียงหลักของบ้านเรา เป็นสำเนียงที่ฟังดูกลางๆแบบเวียงจันทน์ ไม่นุ่มไม่แข็ง ไม่มีการผันวรรณยุกต์จัตวาและตรีจัดและลากเสียงโทยาวแบบหลวงพระบาง ไม่ออกเสียงขึ้นจมูกนาสิกมากมายแบบอีสานกลางร้อยเอ็ด ไม่มีเสียงเอกหนักห้วนตลอดเวลาแบบจำปาสักและอีสานใต้


จำปาสักอีสานใต้
“ม่าเมื่องหลวงพะบ่าง น่องใซ่เงิ่นไป่แล่วจั๊กบาด” ความหมาย ‘มาเมืองหลวงพระบาง น้องใช้เงินไปแล้วกี่บาท’ (สังเกตเสียงเอกในคำว่า ‘มา’ ‘เมือง’ ‘พระบาง’ ‘เงิน’ เป็นเอกลักษณ์สำเนียงลาวใต้ -หมายเหตุ เสียงเอกกำหนดให้ลักษณะการพูดห้วนและแข็งโดยอัตโนมัติ หรือเป็นไปในทางกลับกัน การพูดห้วนและแข็งเป็นอิทธิพลให้มีการใช้เสียงเอก สำเนียงแบบนี้บ่งบอกความขึงขังจริงจัง)

หลวงพระบาง
“มาเหมื่องล่วงพะบ๋าง น้องใซ้เงินไปแล้วจั๊กบ๊าด” (สังเกตเสียงจัตวาที่คำว่า ‘พระบาง’ และเสียงตรีที่คำว่า ‘บาท’ เอกลักษณ์เสียงหลวงพระบางแท้ -หมายเหตุ คำว่า ‘เงิน’ และ ‘ไป’ แม้จะเป็นเสียงสามัญเหมือนไทยกรุงเทพ แต่จะหลวงพระบางจะใช้โน้ตที่สูงกว่าและเอื้อนยาวเหมือนคำเมืองโดยเฉพาะในเสียงโท เช่นในคำว่า ‘น้อง’ ซึ่งการออกเสียงคำว่า ‘น้อง’ แบบเอื้อนและใช้โน้ตสูงนี้เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของคำเมืองและสำเนียงหลวงพระบาง แสดงบุคคลิกนุ่มนวลสุภาพ)

เวียงจันทน์อุดร
“ม้าเมื้องหลวงพะบ่าง น่องใซ่เงิ้นไป่แล่วจั๋กบาด” (เสียงโทในคำว่า ‘มา’ ‘เมือง’ ‘เงิน’ เป็นเอกลักษณ์ลาวอุดรและเวียงจันทน์ เป็นใช้เสียงโท เพื่อลดความแข็งของสำเนียง -หมายเหตุ เสียงสามัญในคำว่า บาท ใช้โน้ตกลางเหมือนไทยกรุงเทพ)

การใช้โน้ตกลาง ไม่สูง ไม่หนัก ไม่แหลม การเพิ่มเสียงโท และการลดการใช้เสียงนาสิก ลดเสียงจัตวา ตรี และเอก ทำให้สำเนียงลาวอุดรและเวียงจันทน์ฟังดูมีความเป็น “เมือง” มากกว่าสำเนียงอื่นซึ่งฟังดู “บ้าน”

สำเนียงอุดรและเวียงจันทน์ไม่มีเอื้อนและไม่พูดห้วน เป็นการพูดที่ให้ฟังดูเป็น สากล หรือเป็น ‘เมือง’ สำเนียงแบบนี้เกิดขึ้นในภาษาต่างๆทั่วโลก เช่นภาษาอังกฤษ สำเนียงอเมริกันมิดเวสท์ซึ่งถูกนับ (กันเอาเอง) ว่า เป็นสำเนียงที่กลางที่สุด ใครอยากเป็นผู้ประกาศข่าวต้องมาเรียนหนังสือและหัดพูดสำเนียงนี้ สำเนียงอเมริกันใต้กลายเป็นสำเนียงบ้านนอก สำเนียงแคลิฟอเนียร์กระแดะ สำเนียงอังกฤษ (ซึ่งก็มีหลายแบบ) ฟังดูหรู ส่วนในภาษาฝรั่งเศส ฝรั่งเศสแบบเจนีวานั้นถือกันว่า “กลาง” กว่า ฝรั่งเศสแบบปารีสซึ่งดูหยิ่ง ฝรั่งเศสมาร์เซยถ่อย ฝรั่งเศสควิเบคบ้านนอก ฝรั่งเศสมาลีไร้การศึกษา ฯลฯ

สำเนียงที่เป็น “เมือง และ “เป็นกลาง” แบบที่ถือกันขึ้นมาในสมัยใหม่นี้ มีลักษณะที่ตรงกันคือ สะอาด เรียบง่าย ไม่มีเอื้อน ไม่ห้วน ไม่ผันวรรณยุกต์ หรือ intonation จดสุดสเกลเสียง ออกเสียงตัวอักษรชัดเจนทุกคำ สำเนียงแบบนี้หากจะเทียงกับตัวพิมพ์ก็คือ เป็นตัวพิมพ์เฮลเวติก้า (HELVETICA) ทันสมัย สะอาด เรียบง่าย น่าอ่าน เมืองใหญ่ของโลกที่ใช้อักษรโรมันเช่นนิวยอร์คมักเลือกใช้ตัวพิมพ์เฮลเวติก้าตามป้ายต่างๆของทางการ เอริก สปีเกอร์มานน์ ดีไซเนอร์เยอรมันให้ความเห็นไว้ว่า ตัวพิมพ์เฮลเวติก้าเป็นสิ่งที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ จำเจ ไร้อารมณ์ ไร้บุคลิก

แม้ว่าครอบครัวของเราจะเคยอยู่ที่จังหวัดเลยมานาน แต่สำเนียงลาวเลยแบบหลวงพระบางนั้นไม่มีใครพูดกันเป็น แค่ฟังออกและเลียนแบบได้ในบางครั้ง โดยเฉพาะข้าพเจ้านั้นแม้ว่าจะเกิดที่เลยแต่ก็พูดเลยไม่ได้เลย ไปหลวงพระบางทีไรก็ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง น่าอายอยู่

ครอบครัวของเรามาอยู่อุดรกันนานแล้วและใช้สำเนียงอุดรพูดกันในบ้าน แม้ว่าบางคราวที่มีงานเลี้ยงหรือพบปะระหว่างพ่อกับญาติทางสกล พ่อจะเปลี่ยนกลับเป็นสำเนียงสกล พี่ชายนั้นทำงานในกรุงเทพ คุยกับคนขับแท็กซี่หรือลูกจ้างในบริษัทซึ่งเป็นอีสานใต้เสียมาก จึงปรับใช้สำเนียงลาวใต้เวลาพูดกับคนอีสานในกรุงเทพ ข้าพเจ้าก็ทำเช่นเดียวกันเวลาที่ไปกรุงเทพ ทำไปโดยอัตโนมัติ สาเหตุคงเพราะว่าหากพูดสำเนียงอุดรแบบเมืองๆคงฟังดูไม่ “ลาว” พอสำหรับคนอีสานใต้ ส่วนพี่สาวนั้นใช้คำไทยในการพูดลาว จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นการพูดลาวแต่ในสำเนียงเท่านั้น ศัพท์ลาวต่างๆที่ไม่จำเป็น (ในความเห็นของพี่สาว) จะถูกแทนด้วยคำไทยแต่เปลี่ยนแค่เสียงให้เป็นลาวเท่านั้น กรณีการใช้คำไทยแทนแต่ออกเสียงแบบสำเนียงถิ่นเช่นนี้นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วกันในคำเมืองและภาษาใต้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีการศึกษาจากระบบไทยเติบโตในเมืองใหญ่

คนอีสานที่ไม่พูดลาวแต่ก็พูดไทยปนลาวโดยไม่รู้ตัวและพูดไทยกลางให้ซัดๆไม่เป็นก็มีมาก ข้าพเจ้าและเพื่อนคนใต้คนพูดคำเมืองลงความเห็นตรงกันว่า กลุ่มคนประเภทนี้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นับเป็นกลุ่มที่น่าสงสาร(และน่าขำ)ที่สุด คือพูดไทยก็ปนสำเนียงถิ่น แต่พูดสำเนียงถิ่นตัวเองจริงๆไม่เป็น อย่างดีก็อาจจะแค่ฟังออกบ้าง

ตัวอย่างคำไทยปนถิ่นที่ใช้กันเป็นปรกติในภูมิภาคแต่จะฟังดูแปลกมากหากใช้ในภาคอื่น(แม้ว่าผู้พูดจะนึกว่ากำลังพูดไทยอยู่)

ไทยปนลาว
“ไปกินข้าวกันบ๊อ เที่ยงแล้วเด๊ล่ะ” ความหมาย ‘ไปกินข้าวกันไหม เที่ยงแล้วนะนี่’ (สังเกต มีการเปลี่ยนสำเนียงในคำว่า บ่ ให้เป็นไทยมากขึ้น)

ไทยปนคำเมือง
“สิบห้าบาทบะดาย บะต้องรอเอาเงินทอนเน่อ” ความหมาย แค่สิบห้าบาทเท่านั้น ไม่ต้องรอเอาเงินทอนนะ (สังเกต ไม่มีการเปลี่ยนสำเนียงในคำที่เป็นคำเมือง แต่คงเสียงไว้เช่นเดิม)

คนเหนือที่พูดคำเมืองปนไทยนั้น ส่วนมากไม่มีปัญหาเวลาพูดไทยให้เป็นสำเนียงกลางเวลาไปกรุงเทพ และสามารถใช้สำเนียงกรุงเทพได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ชาวอีสานส่วนมากทำกันไม่ค่อยได้แม้แต่เด็กนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดใหญ่ๆ และมักเป็นปมถูกล้อเลียนเป็นประจำ ส่วนคนใต้นั้นถ้าเป็นคนที่แหลงใต้และมีสำเนียงทองแดงติดเวลาพูดไทย ข้าพเจ้าพบว่าเขาจะไม่ “อาย” เท่ากับคนอีสาน เพราะทุนทางสังคมนั้นต่างกัน แต่ที่คนใต้ด้วยกันต้องขำเวลาได้ยินคือคนใต้ที่พูดใต้ไม่ได้แต่พูดไทยติดทองแดงและใช้คำใต้โดยไม่รู้ตัว เช่น นางสาวกสมาจากยะลาตะโกนเรียนเพื่อนที่มหาลัยที่เชียงใหม่ “โม๋เรามานี่เร็ว” (หมู่เรา/พวกเรา มานี่เร็ว)

สมัยเด็กๆข้าพเจ้าก็เคยอาย (หมายถึง Embarrass ไม่ใช่ Shy) ที่จะพูดลาวกับพ่อและแม่เวลาอยู่ต่อหน้าคนที่ไม่พูดลาว แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะไม่เป็นแล้ว แต่ก็มีบ่อยครั้งที่แม่จะพูดไทยกับข้าพเจ้าเวลามีเพื่อนมาหา และถ้าเพื่อนเป็นคนอีสานที่รู้ภาษาลาวก็จะแอบขำการใช้ภาษาไทยของแม่กับลูกชาย เช่น “ดาว ไปเอาน้ำมาสู่เพื่อนถะแหมะ” (ดาว ไปเอาน้ำมาให้เพื่อนสิไป)

การพูดลาวของคนอีสานจากพื้นที่และภูมิหลังต่างๆ

“เมื่อเฮื่อน/เมี่ยเฮี่ยน กอนเด้อ” (ความหมาย ‘กลับบ้านก่อนนะ’) ชาวบ้านอีสานในชนบท
“เมื่อบ้านกอนเด้อ” ชาวบ้านอีสานในเมือง
“กั๋บบ้านกอนเด้อ” ชาวอีสานเมือง
“กั๋บบ้านกอนนะ” ชาวอีสานที่เป็นเมืองมากๆ

คำว่า ‘บ้าน’ นั้น ในภาษาลาวในประเทศลาวแปลว่า ‘หมู่บ้าน’ (Village, Community) เท่านั้น ไม่ได้แปลว่า ‘บ้าน’ (Home) การบอกว่า “เมือบ้าน” จึงแปลว่า “กลับหมู่บ้าน” ถ้าคนอีสานชาวเมืองไปจำปาสักแล้วบอกว่าจะ “เมือบ้าน” คนจำปาสักมักจะนึกว่าเขาอยาก ‘กลับหมู่บ้าน’ แต่ในปัจจุบัน ลาวเวียงจันทน์ที่มีวิถีชีวิตแบบเมืองมากๆ ก็เริ่มใช้คำว่า “เมือบ้าน” เมื่อต้องการพูดว่า ‘กลับบ้าน’ การมีชีวิตในเมืองและไม่ขึ้นอยู่กับชุมชนแบบหมู่บ้าน ทำให้ ‘บ้าน’ มีความหมายเหลือแค่ ‘บ้านของตัวเอง’

----------

ปาจารยสาร ๒๕๕๑