ธรรมศาลาในดวงตาของข้าพเจ้า
ธรรมศาลาในดวงตาของข้าพเจ้า
ขับรถข้ามภูเขามาหลายโค้งเนินผ่านป่าเขียวผาหินชันจนมาถึงเมืองธรรมศาลาบนเทือกเขาหิมาลัย รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนบนของประเทศอินเดีย ที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตแห่งองค์ดาไลลามะ อาทิตย์กำลังจะหลบลงหลังเหลี่ยมภู ข้าพเจ้ารีบเดินเข้าไปยังตู้โทรศัพท์เพื่อโทรไปยังสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศ คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักก็ได้ความว่ากระทรวงปิดแล้วควรโทรมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น สถานการณ์กำหนดให้ต้องหาที่พักในตัวเมืองซึ่งมีขนาดเท่าหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็มีเกสท์เฮาส์และร้านรวงมากอยู่ ด้วยธรรมศาลาเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวประเทศถือเป้อยากมาดูมาชมสัมผัสวัฒนธรรมทิเบตพลัดถิ่น กินอาหารแปลกใหม่และหากโชคดีอาจได้ฟังเทศน์จากดาไลลามะ
กำลังจะออกเดินหาเกสท์เฮาส์วาสนาก็พามาพบกับ เทนซิน พระหนุ่มอายุประมาณไม่ถึงยี่สิบห้า อัธยาศัยน่าชื่นชม ซักถามข้าพเจ้าอย่างเป็นห่วงว่ามาจากไหนมาทำอะไรและหากยังไม่มีที่พักก็จะชวนไปพักด้วยที่หอพักบนเนินหลังหมู่บ้าน ข้าพเจ้าตอบว่ามาเป็นอาสาสมัครกับรัฐบาลทิเบตและจะผลิตสารคดีโทรทัศน์ระหว่างที่อยู่ที่ธรรมศาลาในอีกสามเดือนข้างหน้า คุยกันไม่นานเขาก็พาไปวางสัมภาระที่หอพักแล้วเดินลงมาทานอาหารค่ำด้วยกันที่ร้านอาหารในตัวหมู่บ้าน
ในร้านอาหาร เทนซินเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเพิ่งออกมาจากเมืองจีนเมื่อปีที่แล้ว ด้วยว่าเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวและถูกคาดหวังให้เป็นพระ ตัวเขามีคนรู้จักอาศัยอยู่ที่ธรรมศาลา จึงตัดสินใจเดินทางออกจากจีนมายังอินเดียเพื่อเรียนรู้พระศาสนาที่นี่ ข้าพเจ้าคุยกับเขาอยู่นานจนค่ำจึงพากันกลับไปยังหอพักเพื่อพักผ่อน
“คิดอย่างไรกับปรัชญาพุทธ” ข้าพเจ้าถาม
“ผมยังไม่ทราบอย่างถ่องแท้ดีนัก อยากเรียนรู้ให้มากที่สุดในตอนนี้” พระหนุ่มตอบ
.......
สองอาทิตย์ต่อมาข้าพเจ้าใช้เวลาที่มีอ่านหนังสือจากห้องสมุดของรัฐบาล สอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงและใช้ชีวิตในหมู่บ้านกับเพื่อนใหม่ชาวทิเบตและชาวต่างชาติหลายคน ในที่สุดก็ได้รวบรวมความคิดและข้อสงสัยต่างๆประมวลเสร็จเป็นแผนงานสารคดีขึ้นมาชื่อว่า “ทางสายกลางแห่งทิเบต” เป็นโครงการทำสารคดีเพื่อวิจัยและสะท้อนการเอาความคิดของชาวทิเบตเกี่ยวกับการนำเอาพุทธปรัชญาไปใช้ในระดับต่างๆตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน การศึกษา จนถึงนโยบายระหว่างประเทศ
....
“ทางสายกลางคืออะไร” พระหนุ่มตบฝ่ามือแรงฉาดใหญ่ ยืนตะโกนคำถามท้าทายต่อคู่สนทนาซึ่งนั่งอยู่บนพื้น พระรูปอื่นๆและผู้ชมซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่มาที่วัดยืนมุงมองด้วยความสนใจ
“คือความเข้าใจในความเป็นจริงแห่งสรรพสิ่ง” พระหนุ่มอีกรูปตอบอย่างรวดเร็ว
การโต้ปุจฉาวิปัสนาแบบวิภาษวิธี (Dialectic debate practice) แบบของทิเบตเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานแล้ว แม้จะต้องลี้ภัยข้ามประเทศกันมาหลังจากที่ถูกจีนเข้าควบคุม หลักปฏิบัติก็ยังได้รับสืบทอดเสมอมา การโต้ปุจฉาแบบนี้เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้คิดได้ถามและไตร่ตรองประมวลความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของพระพุทธเจ้า
“ทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำคืออะไร” พระหนุ่มตบมือดังเปรี้ยง จี้คำถามต่อเนื่องโยงจากคำถามหลักเป็นเชิงประยุกต์
“แม่น้ำไม่ได้มีตัวตนจริงที่แท้ แต่ก็ไม่ได้ว่างเปล่าเป็นเพียงมายา แม่น้ำมีอยู่ แต่เปลี่ยนผันต่อเนื่องไม่คงตัว ทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำคือการเข้าใจการมองอย่างสุดขั้วว่าแม่น้ำมีตัวตนที่แท้ หรือแม่น้ำไม่มีตัวตนนั้น เป็นอวิชชา การมองที่เข้าใจความเป็นจริงว่าแม่น้ำมีตัวตนที่เป็นอนิจจังแปรผันตลอดเวลานั้นคือทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำ”
เสียงและภาพถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวิดีโอจากระยะห่าง ข้าพเจ้าปล่อยให้กิจกรรมดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีการเคลื่อนกล้อง ไม่มีการซูม มุมมองที่เกิดในกล้องเป็นการจับเฝ้าการเคลื่อนไหวและบทสนทนาที่เกิดขึ้นอย่างเพียงผู้ชมภายนอกอันเป็นภววิสัย
....
โมโม่ อาหารกินเล่นกินหลัก ไส้หวานไส้เค็ม มีขายตามท้องถนนในหมู่บ้านธรรมศาลา รูปร่างหน้าตาคล้ายเกี๊ยวซ่า บางร้านก็ใช้แป้งซาลาเปา ส่วนใหญ่จะเป็นโมโม่นึ่ง แต่บ้างก็ทอด แต่บางร้านต้มเป็นเกี๊ยวน้ำเรียกว่า swimming momo ข้าพเจ้าขออนุญาตเจ้าของร้านโมโม่ริมถนนวางขาตั้งกล้องแล้วถ่ายวิดีโอการซื้อขายและบริโภคโมโม่ เขายินดีอนุญาตและคุยด้วยอย่างออกรส
ไอน้ำกลมกลิ่นแป้งลอยฉุยอุ่นเอื่อยเป็นโฟร์กราวน์ ภาพกลางเป็นคนขายในมุมแหงน ผู้คนเดินผ่านไปมาอุดหนุนโมโม่ของเขา บ้างหยุดยืนกินข้างร้านพูดคุยทักทายเป็นกันเอง
“ทางสายกลางของการกินโมโม่คืออะไร” ข้าพเจ้าถามเด็กหนุ่มที่กำลังจ่ายเงินซื้อโมโม่จากเจ้าของร้านเขาหยุดคิดสักพัก แล้วตอบเบาๆ “ผมไม่แน่ใจ แต่คำสอนของพุทธศาสนาบอกให้เราระลึกเสมอว่า โมโม่นั้นมีที่มาที่ไป เวลาเรากินโมโม่เราควรมีสติตลอดเวลา และรู้ว่ากว่าจะมีโมโม่ให้เรากินต้องมีสิ่งและผู้คนที่เกี่ยวพันเกิดขึ้นมากมาย คนโม่แป้ง คนปลูกผัก ขี้วัวที่เป็นปุ๋ยให้ผัก น้ำจากแม่น้ำ เงินที่ได้มาจากการทำงานของแม่ที่ผมเอามาซื้อโมโม่ เงินที่แม่ได้มาจากคนอื่นจากการขายของ ฯลฯ”..... “นโยบายทางสายกลางของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคือ การเรียกร้องที่จะเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อเรียกร้องให้จีนยอมให้ชาวทิเบตได้ปกครองตนเองอย่างแท้จริง ทางสุดขั้วทางหนึ่งคือการยอมให้จีนครอบงำชาวทิเบต ทำลายวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงรวดเร็ว อีกทางคือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการแยกประเทศมีอธิปไตยเป็นของตนเอง แต่นโยบายทางสายกลางนี้ มองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการได้ประเทศอิสระคือการได้รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การมีประเทศอิสระเป็นหนทางแต่ไม่ใช่เป้าหมาย ความต้องการที่จะมีประเทศอิสระจึงสำคัญเร่งด่วนรองลงมากว่าการได้รักษาชีวิตและสังคมแห่งทิเบต” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการให้ห้องทำงาน....
“จริงอยู่ นโยบายทางสายกลางแห่งองค์ดาไลลามะนั้นน่ายกย่องเป็นอย่างมาก เขามีเมตตาและพยายามที่จะเข้าใจทุกฝ่าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นผู้ที่เคยทำร้ายเขามาอย่างสาหัส แต่ถ้าถามใจของฉันตรงๆแล้ว ฉันไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทิเบตเป็นของเรา และเราต้องการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมนี้”โซนัม เดเชน รองผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขข้อขัดแย้งทิเบต ให้สัมภาษณ์กับข้าพเจ้าบนโต๊ะอาหาร “การรอมชอมแบบผ่อนปรนนั้น บางทีนำมาซึ่งความไม่มีประสิทธิภาพ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิงประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิให้กับชนผิวดำในเวลาไม่ถึงห้าปี เพราะเขาไม่เคยรอมชอมเรื่องความชอบธรรม” เวนเดล อาสาสมัครหนุ่มผิวดำชาวอเมริกันให้ความเห็นบนโต๊ะอาหารเดียวกัน
โซนัมตักซุปโมโม่เข้าปาก.....
“นโยบายการศึกษาของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตมีแต่เรื่องวัฒนธรรมเก่าๆ แต่ละเลยความรู้สมัยใหม่ ผมตกใจมากเมื่อได้อ่านเนื้อหานโยบายการศึกษา พวกเขาไม่ได้กล่าวถึงอินเตอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ แต่ชีวิตในอนาคตของพวกเรานั้นขึ้นอยู่กับอินเตอร์เน็ต” ล็อบซัง หนุ่มผมยาวประธานสมาคมผู้สื่อข่าวทิเบตและผู้จัดการประกวดมิสทิเบตวิจารณ์รัฐบาลอย่างออกรสในการสัมภาษณ์ที่ร้านอาหารชั้นดาดฟ้า “สิ่งที่เราควรแยกแยะให้ได้คือความแตกต่างระหว่างแนวคิดแบบสมัยใหม่และอุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่ (Modern mindset and Modern facilities) สิ่งที่รัฐบาลไม่สนับสนุนคือแนวคิดสมัยใหม่ที่ส่งเสริมค่านิยมการแข่งขันชิงเด่นดี พยายามสอนให้คนเบียดตัวเองไปข้างหน้าและผลักคนอื่นลงข้างล่าง เป็นค่านิยมที่ทำให้คนคิดแต่จะเปรียบเทียบและหาทางเอาชนะ” ศาสตราจารย์ สัมธง รินโปเช นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตตอบ เมื่อข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังว่ามีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล
“นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลทิเบตตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า สิ่งจำเป็น (Needs) ต้องได้รับการจัดสรร แต่ตัณหา (Greed) ไม่ควรได้รับการปรนเปรอ นี่แหละ คือทางสายกลาง” รินโปเชอธิบายสรุป
.....
“สังคมมนุษย์ประกอบไปด้วยชายห้าสิบเปอร์เซ็นต์และหญิงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่การที่สังคมดำเนินไปโดยไม่มีความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงทั้งในระดับครอบครัว ที่ทำงาน และการเมือง เราจะเรียกว่าสังคมดำเนินไปในทางสายกลางได้อย่างไร” บี เซริง ผู้อำนายการศูนย์สตรีทิเบตตั้งคำถาม....
ในทัศนะของข้าพเจ้าเอง เมื่อได้เข้ามาอยู่ในอินเดียชาวทิเบตก็ต้องเผชิญกับแนวคิดสมัยใหม่ (Modernity) ซึ่งมากับการศึกษาภาคบังคับ สื่อ และตลาด อันเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากในบริบทสังคมอินเดีย แต่ในขณะเดียวกัน การอยู่ในอินเดียก็ได้ช่วยปลุกความคิดด้านจิตวิญญานให้นิ่งและมั่นคงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะอินเดียคือต้นกำเนิดและแหล่งเพาะต้นกล้าแห่งความเข้มแข็งทางจิตวิญญาน ดาไลลามะกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับทิเบตเป็นมาดั่งอาจารย์กับศิษย์ อินเดียคืออาจารย์ ทิเบตคือศิษย์”
การอยู่ในหุบเขาและทุ่งหญ้าโดยไม่ต้องเผชิญกับโลกสมัยใหม่ดังเช่นทิเบตในอดีตนั้นทำให้ชาวทิเบตได้ใช้ชีวิตตามครรลองพุทธศาสนาที่เรียบง่าย แต่ในปัจจุบันชาวทิเบตในอินเดียได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยวิถีชีวิตว่าแนวคิดค่านิยมและนวัตกรรมสมัยใหม่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลบเลี่ยงเพียงแต่ต้องเข้าใจหาใช้ประโยชน์พร้อมทั้งตั้งคำถามเสาะหาจุดยืนของตนให้มั่นคงเพื่อไม่ให้หวั่นไหวไปตามกระแส ข้าพเจ้ามองว่าชาวทิเบตปรับวีถีชีวิตและความคิดแบบพุทธให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ดีหากเปรียบเทียบกับชาวพุทธในประเทศอื่นๆ ชาวทิเบตในธรรมศาลาแทบทุกคนที่ข้าพเจ้าได้พูดจาแลกเปลี่ยนจะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ดูเหมือนว่าทุกคนใช้เวลาที่มีนั่งขบคิดทบทวนไตร่ตรองชีวิตและสังคมอยู่เสมอจนความคิดตกผลึกมั่นคง
เมืองเล็กๆกลางหุบเขาหิมาลายาแห่งนี้ได้กลายมาเป็น “บ้าน” ของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว การที่องค์ดาไลลามะถือเอาธรรมศาลานี้เป็น “บ้าน” ทำให้ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ที่นี่รู้สึกอบอุ่นและไม่แปลกแยกมากนัก เคลา ดีห์ล นักมานุษยวิทยาผู้เขียนหนังสือเรื่อง Echoes from Dharamsala: Music in the Life of a Tibetan Refugee Community ได้ศึกษาการให้ความหมายกับวิถีชีวิตและเมืองของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตในธรรมศาลา เธอพบว่า แม้ชาวทิเบตในธรรมศาลาจะรู้สึกอุ่นใจที่ได้อยู่ไกล้กับองค์ดาไลลามะ แต่พวกเขาก็ได้สร้างสำนึกทางกายภาพและจิตใจว่า ธรรมศาลานั้นไม่ใช่ทิเบต สำนึกทางจิตใจนั้นก็คือตระหนักอยู่ตลอดว่าธรรมศาลาเป็นที่พำนักชั่วคราวและไม่ควรยึดติด ส่วนการสร้างสำนึกทางกายภาพก็คือการไม่พยายามทำให้ธรรมศาลา “เป็นทิเบต” เพียงเพื่อให้เกิดบรรยากาศถวิลหาหลอกๆ ธรรมศาลาไม่มีบ้านเรือนที่ตกแต่งแบบที่เรียกว่าคิทช์ (kitsch) ที่เป็นไปเพียงเพื่อสร้างรสนิยมความเป็นทิเบตเทียมให้เกิดขึ้น ต่างจากบ้านบางหลังในคูเมืองเชียงใหม่ที่เป็นตึกปูนเสาโรมันแต่มีกาแลแปะบนจั่ว
ข้าพเจ้าเองพบว่าสิ่งที่เคลา ดีห์ล ได้ศึกษาเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียว หนังสือของเธอดำเนินเรื่องโดยใช้ดนตรีเป็นประเด็นที่สะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกมา เธอพบว่า ความพยายามในการการอนุรักษ์วัฒนธรรมทิเบตที่ธรรมศาลานั้น เป็นไปทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา ประกอบกับการเผชิญหน้ากับอิทธิพลวัฒนธรรมกระแสหลักจากตะวันตกและจากอินเดีย หนุ่มสาวสมัยใหม่สนใจดนตรีร็อค แร็ป และ เพลงจากหนังบอลลีวู้ด ดนตรีของหนุ่มสาวทิเบตยุคใหม่มีรูปแบบที่เป็นไปตามสมัยนิยม แต่ดีห์ลก็พบว่าดนตรีแบบโมเดิร์นนี้มิใช่แค่การลอกเลียนแบบตะวันตก แต่มันมีนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการสำหรับหนุ่มสาวทิเบต “ความเป็นทิเบต” ถูกจินตนาการ แสดงออก และ ถกเถียงอย่างต่อเนื่องผ่านดนตรี
ข้าพเจ้าสนิทกับกลุ่มศิลปินหนุ่มสาวทิเบตบางคนและพบว่า ไม่เพียงแค่ดนตรีเท่านั้น ภาพเขียน ภาพถ่าย และภาพยนตร์ก็เป็นรูปแบบของการสื่อความคิดของพวกเขาถึงความเป็นทิเบตในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
Phun Anu Thanu หนังทิเบตโดยชาวทิเบตเรื่องแรกซึ่งกับโดยผู้กำกับหนุ่มสองคนวัยยี่สิบปลายเมื่อปี ๒๕๔๘ เป็นเรื่องรักใคร่ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งในธรรมศาลา หนังอินเดียก็เหมือนอาหารอินเดีย คือต้องมีให้ครบทุกรส แม้ว่าหนังแต่ละเรื่องจะมีแนวหลักไปแนวใดแนวหนึ่งแต่ในหนึ่งเรื่องก็ต้องมีให้ครบทุกแบบ ดรามา เศร้า แอ็คชั่น ตลก และที่ขาดไม่ได้ ฉากร้องเพลง! จงใจหรือไม่ก็ตาม หนังทิเบตโดยชาวทิเบตในอินเดียเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากการเล่าเรื่องและวางโครงสร้างแบบบอลลีวู้ดซึ่งเอาผู้กำกับนำเอามาใช้ได้อย่างสนุก หนังเป็นหนังตลกมีมุขขำเสียดสีฉลาดมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสะท้อนสังคมของผู้ลี้ภัยทิเบตในอินเดียได้อย่างดี ผู้ชมหัวเราะเฮฮาในฉากคอเมดี้โดยเฉพาะฉากที่นางเอกและพระเอกร้องเพลงจีบกันขำๆตามทุ่งหญ้าทุ่งนา แต่ฉากดรามาก็ซึ้งจับใจจนต้องหลั่งน้ำตา
ในบาร์มืดๆแห่งหนึ่งบนถนนหลักของตัวหมู่บ้านธรรมศาลา หนุ่มสาวทิเบตกับแบ็คแพ็กเกอร์ชาวต่างชาตินั่งถกปัญหาสังคมและสัจธรรมกันท่ามกลางเสียงเพลงบีทส์เร็วเบสหนักและเบียร์อินเดียรสจืด เป็นภาพที่คนภายนอกอาจมองดูขัดแย้ง เสียงเบสทุ้ม แอลกอฮอล์ กับปรัชญาของพระพุทธเจ้าไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่มันก็เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นทุกค่ำคืนในหมู่บ้านธรรมศาลา
ยามเช้านักท่องเที่ยวยังหลับไหล แต่ชาวทิเบตตื่นก่อนไก่ขันมาทำงานบ้านและจ่ายตลาด ความมีชีวิตชีวาของยามเช้าที่ผู้คนพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันด้วยความคุ้นเคย เป็นภาพแห่งความชีวิตที่ดู “จริง” กว่าบรรยากาศของหมู่บ้านในอีกสามสี่ชั่วโมงต่อมาเมื่อเริ่มสายนักท่องเที่ยวออกเดินหาช็อคโกแลตทรัฟเฟิลกินแก้แฮงก์โอเวอร์ บ้างหยิบซื้อสินค้าวัฒนธรรมประดิษฐ์เพื่อฝากคนทางบ้าน บ้างถ่ายรูปโคลสอัพใบหน้าผู้เฒ่าชราทิเบตเอาไว้อวดเพื่อนถึงประสบการณ์ต่างเมืองที่ได้มาเห็น
แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสระภาพของทิเบตนั้นเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยของคนที่นี่ แม้สังคมของพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยมาเกือบห้าสิบปีแล้วก็ตาม เท่าที่พบเห็น ชาวธิเบตส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในวิถีพุทธศาสนามหายานที่เน้นหลักเมตตา ความเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาทและการมองโลกด้วยความเป็นจริงตามหลักทางสายกลางวัชรยานซึ่งช่วยให้พวกเขามีความอดทนในการเรียกร้องอิสระภาพแบบอหิงสาและมีชีวิตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาเร็วช้าต่างกันไป ความพยายามที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้นเองคือความไม่รู้ ชาวทิเบตในธรรมศาลามีความเป็นอยู่ที่แสดงให้โลกเห็นว่าการเตรียมพร้อมเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงคือความรู้ ความไม่แน่นอนนี้รวมถึงหลักสัจธรรมเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าหรือโพธิสัตว์องค์ใดก็หนีไม่พ้น สำหรับชาวทิเบตเองและชาวต่างชาติมีหลายคนเป็นห่วงถึงวันที่ไม่มีองค์ดาไลลามะองค์ปัจจุบัน แต่ข้าพเจ้าไม่ห่วงเลย
....--==--==---====----=
กรุงเทพธุรกิจ ๑มิถุนายน ๒๕๕๑
ขับรถข้ามภูเขามาหลายโค้งเนินผ่านป่าเขียวผาหินชันจนมาถึงเมืองธรรมศาลาบนเทือกเขาหิมาลัย รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนบนของประเทศอินเดีย ที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตแห่งองค์ดาไลลามะ อาทิตย์กำลังจะหลบลงหลังเหลี่ยมภู ข้าพเจ้ารีบเดินเข้าไปยังตู้โทรศัพท์เพื่อโทรไปยังสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศ คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักก็ได้ความว่ากระทรวงปิดแล้วควรโทรมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น สถานการณ์กำหนดให้ต้องหาที่พักในตัวเมืองซึ่งมีขนาดเท่าหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็มีเกสท์เฮาส์และร้านรวงมากอยู่ ด้วยธรรมศาลาเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวประเทศถือเป้อยากมาดูมาชมสัมผัสวัฒนธรรมทิเบตพลัดถิ่น กินอาหารแปลกใหม่และหากโชคดีอาจได้ฟังเทศน์จากดาไลลามะ
กำลังจะออกเดินหาเกสท์เฮาส์วาสนาก็พามาพบกับ เทนซิน พระหนุ่มอายุประมาณไม่ถึงยี่สิบห้า อัธยาศัยน่าชื่นชม ซักถามข้าพเจ้าอย่างเป็นห่วงว่ามาจากไหนมาทำอะไรและหากยังไม่มีที่พักก็จะชวนไปพักด้วยที่หอพักบนเนินหลังหมู่บ้าน ข้าพเจ้าตอบว่ามาเป็นอาสาสมัครกับรัฐบาลทิเบตและจะผลิตสารคดีโทรทัศน์ระหว่างที่อยู่ที่ธรรมศาลาในอีกสามเดือนข้างหน้า คุยกันไม่นานเขาก็พาไปวางสัมภาระที่หอพักแล้วเดินลงมาทานอาหารค่ำด้วยกันที่ร้านอาหารในตัวหมู่บ้าน
ในร้านอาหาร เทนซินเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเพิ่งออกมาจากเมืองจีนเมื่อปีที่แล้ว ด้วยว่าเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวและถูกคาดหวังให้เป็นพระ ตัวเขามีคนรู้จักอาศัยอยู่ที่ธรรมศาลา จึงตัดสินใจเดินทางออกจากจีนมายังอินเดียเพื่อเรียนรู้พระศาสนาที่นี่ ข้าพเจ้าคุยกับเขาอยู่นานจนค่ำจึงพากันกลับไปยังหอพักเพื่อพักผ่อน
“คิดอย่างไรกับปรัชญาพุทธ” ข้าพเจ้าถาม
“ผมยังไม่ทราบอย่างถ่องแท้ดีนัก อยากเรียนรู้ให้มากที่สุดในตอนนี้” พระหนุ่มตอบ
.......
สองอาทิตย์ต่อมาข้าพเจ้าใช้เวลาที่มีอ่านหนังสือจากห้องสมุดของรัฐบาล สอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงและใช้ชีวิตในหมู่บ้านกับเพื่อนใหม่ชาวทิเบตและชาวต่างชาติหลายคน ในที่สุดก็ได้รวบรวมความคิดและข้อสงสัยต่างๆประมวลเสร็จเป็นแผนงานสารคดีขึ้นมาชื่อว่า “ทางสายกลางแห่งทิเบต” เป็นโครงการทำสารคดีเพื่อวิจัยและสะท้อนการเอาความคิดของชาวทิเบตเกี่ยวกับการนำเอาพุทธปรัชญาไปใช้ในระดับต่างๆตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน การศึกษา จนถึงนโยบายระหว่างประเทศ
....
“ทางสายกลางคืออะไร” พระหนุ่มตบฝ่ามือแรงฉาดใหญ่ ยืนตะโกนคำถามท้าทายต่อคู่สนทนาซึ่งนั่งอยู่บนพื้น พระรูปอื่นๆและผู้ชมซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่มาที่วัดยืนมุงมองด้วยความสนใจ
“คือความเข้าใจในความเป็นจริงแห่งสรรพสิ่ง” พระหนุ่มอีกรูปตอบอย่างรวดเร็ว
การโต้ปุจฉาวิปัสนาแบบวิภาษวิธี (Dialectic debate practice) แบบของทิเบตเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานแล้ว แม้จะต้องลี้ภัยข้ามประเทศกันมาหลังจากที่ถูกจีนเข้าควบคุม หลักปฏิบัติก็ยังได้รับสืบทอดเสมอมา การโต้ปุจฉาแบบนี้เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้คิดได้ถามและไตร่ตรองประมวลความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของพระพุทธเจ้า
“ทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำคืออะไร” พระหนุ่มตบมือดังเปรี้ยง จี้คำถามต่อเนื่องโยงจากคำถามหลักเป็นเชิงประยุกต์
“แม่น้ำไม่ได้มีตัวตนจริงที่แท้ แต่ก็ไม่ได้ว่างเปล่าเป็นเพียงมายา แม่น้ำมีอยู่ แต่เปลี่ยนผันต่อเนื่องไม่คงตัว ทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำคือการเข้าใจการมองอย่างสุดขั้วว่าแม่น้ำมีตัวตนที่แท้ หรือแม่น้ำไม่มีตัวตนนั้น เป็นอวิชชา การมองที่เข้าใจความเป็นจริงว่าแม่น้ำมีตัวตนที่เป็นอนิจจังแปรผันตลอดเวลานั้นคือทางสายกลางแห่งการมองแม่น้ำ”
เสียงและภาพถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวิดีโอจากระยะห่าง ข้าพเจ้าปล่อยให้กิจกรรมดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีการเคลื่อนกล้อง ไม่มีการซูม มุมมองที่เกิดในกล้องเป็นการจับเฝ้าการเคลื่อนไหวและบทสนทนาที่เกิดขึ้นอย่างเพียงผู้ชมภายนอกอันเป็นภววิสัย
....
โมโม่ อาหารกินเล่นกินหลัก ไส้หวานไส้เค็ม มีขายตามท้องถนนในหมู่บ้านธรรมศาลา รูปร่างหน้าตาคล้ายเกี๊ยวซ่า บางร้านก็ใช้แป้งซาลาเปา ส่วนใหญ่จะเป็นโมโม่นึ่ง แต่บ้างก็ทอด แต่บางร้านต้มเป็นเกี๊ยวน้ำเรียกว่า swimming momo ข้าพเจ้าขออนุญาตเจ้าของร้านโมโม่ริมถนนวางขาตั้งกล้องแล้วถ่ายวิดีโอการซื้อขายและบริโภคโมโม่ เขายินดีอนุญาตและคุยด้วยอย่างออกรส
ไอน้ำกลมกลิ่นแป้งลอยฉุยอุ่นเอื่อยเป็นโฟร์กราวน์ ภาพกลางเป็นคนขายในมุมแหงน ผู้คนเดินผ่านไปมาอุดหนุนโมโม่ของเขา บ้างหยุดยืนกินข้างร้านพูดคุยทักทายเป็นกันเอง
“ทางสายกลางของการกินโมโม่คืออะไร” ข้าพเจ้าถามเด็กหนุ่มที่กำลังจ่ายเงินซื้อโมโม่จากเจ้าของร้านเขาหยุดคิดสักพัก แล้วตอบเบาๆ “ผมไม่แน่ใจ แต่คำสอนของพุทธศาสนาบอกให้เราระลึกเสมอว่า โมโม่นั้นมีที่มาที่ไป เวลาเรากินโมโม่เราควรมีสติตลอดเวลา และรู้ว่ากว่าจะมีโมโม่ให้เรากินต้องมีสิ่งและผู้คนที่เกี่ยวพันเกิดขึ้นมากมาย คนโม่แป้ง คนปลูกผัก ขี้วัวที่เป็นปุ๋ยให้ผัก น้ำจากแม่น้ำ เงินที่ได้มาจากการทำงานของแม่ที่ผมเอามาซื้อโมโม่ เงินที่แม่ได้มาจากคนอื่นจากการขายของ ฯลฯ”..... “นโยบายทางสายกลางของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคือ การเรียกร้องที่จะเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อเรียกร้องให้จีนยอมให้ชาวทิเบตได้ปกครองตนเองอย่างแท้จริง ทางสุดขั้วทางหนึ่งคือการยอมให้จีนครอบงำชาวทิเบต ทำลายวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงรวดเร็ว อีกทางคือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการแยกประเทศมีอธิปไตยเป็นของตนเอง แต่นโยบายทางสายกลางนี้ มองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการได้ประเทศอิสระคือการได้รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การมีประเทศอิสระเป็นหนทางแต่ไม่ใช่เป้าหมาย ความต้องการที่จะมีประเทศอิสระจึงสำคัญเร่งด่วนรองลงมากว่าการได้รักษาชีวิตและสังคมแห่งทิเบต” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการให้ห้องทำงาน....
“จริงอยู่ นโยบายทางสายกลางแห่งองค์ดาไลลามะนั้นน่ายกย่องเป็นอย่างมาก เขามีเมตตาและพยายามที่จะเข้าใจทุกฝ่าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นผู้ที่เคยทำร้ายเขามาอย่างสาหัส แต่ถ้าถามใจของฉันตรงๆแล้ว ฉันไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทิเบตเป็นของเรา และเราต้องการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมนี้”โซนัม เดเชน รองผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขข้อขัดแย้งทิเบต ให้สัมภาษณ์กับข้าพเจ้าบนโต๊ะอาหาร “การรอมชอมแบบผ่อนปรนนั้น บางทีนำมาซึ่งความไม่มีประสิทธิภาพ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิงประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิให้กับชนผิวดำในเวลาไม่ถึงห้าปี เพราะเขาไม่เคยรอมชอมเรื่องความชอบธรรม” เวนเดล อาสาสมัครหนุ่มผิวดำชาวอเมริกันให้ความเห็นบนโต๊ะอาหารเดียวกัน
โซนัมตักซุปโมโม่เข้าปาก.....
“นโยบายการศึกษาของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตมีแต่เรื่องวัฒนธรรมเก่าๆ แต่ละเลยความรู้สมัยใหม่ ผมตกใจมากเมื่อได้อ่านเนื้อหานโยบายการศึกษา พวกเขาไม่ได้กล่าวถึงอินเตอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ แต่ชีวิตในอนาคตของพวกเรานั้นขึ้นอยู่กับอินเตอร์เน็ต” ล็อบซัง หนุ่มผมยาวประธานสมาคมผู้สื่อข่าวทิเบตและผู้จัดการประกวดมิสทิเบตวิจารณ์รัฐบาลอย่างออกรสในการสัมภาษณ์ที่ร้านอาหารชั้นดาดฟ้า “สิ่งที่เราควรแยกแยะให้ได้คือความแตกต่างระหว่างแนวคิดแบบสมัยใหม่และอุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่ (Modern mindset and Modern facilities) สิ่งที่รัฐบาลไม่สนับสนุนคือแนวคิดสมัยใหม่ที่ส่งเสริมค่านิยมการแข่งขันชิงเด่นดี พยายามสอนให้คนเบียดตัวเองไปข้างหน้าและผลักคนอื่นลงข้างล่าง เป็นค่านิยมที่ทำให้คนคิดแต่จะเปรียบเทียบและหาทางเอาชนะ” ศาสตราจารย์ สัมธง รินโปเช นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตตอบ เมื่อข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังว่ามีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล
“นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลทิเบตตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า สิ่งจำเป็น (Needs) ต้องได้รับการจัดสรร แต่ตัณหา (Greed) ไม่ควรได้รับการปรนเปรอ นี่แหละ คือทางสายกลาง” รินโปเชอธิบายสรุป
.....
“สังคมมนุษย์ประกอบไปด้วยชายห้าสิบเปอร์เซ็นต์และหญิงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่การที่สังคมดำเนินไปโดยไม่มีความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงทั้งในระดับครอบครัว ที่ทำงาน และการเมือง เราจะเรียกว่าสังคมดำเนินไปในทางสายกลางได้อย่างไร” บี เซริง ผู้อำนายการศูนย์สตรีทิเบตตั้งคำถาม....
ในทัศนะของข้าพเจ้าเอง เมื่อได้เข้ามาอยู่ในอินเดียชาวทิเบตก็ต้องเผชิญกับแนวคิดสมัยใหม่ (Modernity) ซึ่งมากับการศึกษาภาคบังคับ สื่อ และตลาด อันเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากในบริบทสังคมอินเดีย แต่ในขณะเดียวกัน การอยู่ในอินเดียก็ได้ช่วยปลุกความคิดด้านจิตวิญญานให้นิ่งและมั่นคงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะอินเดียคือต้นกำเนิดและแหล่งเพาะต้นกล้าแห่งความเข้มแข็งทางจิตวิญญาน ดาไลลามะกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับทิเบตเป็นมาดั่งอาจารย์กับศิษย์ อินเดียคืออาจารย์ ทิเบตคือศิษย์”
การอยู่ในหุบเขาและทุ่งหญ้าโดยไม่ต้องเผชิญกับโลกสมัยใหม่ดังเช่นทิเบตในอดีตนั้นทำให้ชาวทิเบตได้ใช้ชีวิตตามครรลองพุทธศาสนาที่เรียบง่าย แต่ในปัจจุบันชาวทิเบตในอินเดียได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยวิถีชีวิตว่าแนวคิดค่านิยมและนวัตกรรมสมัยใหม่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลบเลี่ยงเพียงแต่ต้องเข้าใจหาใช้ประโยชน์พร้อมทั้งตั้งคำถามเสาะหาจุดยืนของตนให้มั่นคงเพื่อไม่ให้หวั่นไหวไปตามกระแส ข้าพเจ้ามองว่าชาวทิเบตปรับวีถีชีวิตและความคิดแบบพุทธให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ดีหากเปรียบเทียบกับชาวพุทธในประเทศอื่นๆ ชาวทิเบตในธรรมศาลาแทบทุกคนที่ข้าพเจ้าได้พูดจาแลกเปลี่ยนจะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ดูเหมือนว่าทุกคนใช้เวลาที่มีนั่งขบคิดทบทวนไตร่ตรองชีวิตและสังคมอยู่เสมอจนความคิดตกผลึกมั่นคง
เมืองเล็กๆกลางหุบเขาหิมาลายาแห่งนี้ได้กลายมาเป็น “บ้าน” ของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว การที่องค์ดาไลลามะถือเอาธรรมศาลานี้เป็น “บ้าน” ทำให้ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ที่นี่รู้สึกอบอุ่นและไม่แปลกแยกมากนัก เคลา ดีห์ล นักมานุษยวิทยาผู้เขียนหนังสือเรื่อง Echoes from Dharamsala: Music in the Life of a Tibetan Refugee Community ได้ศึกษาการให้ความหมายกับวิถีชีวิตและเมืองของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตในธรรมศาลา เธอพบว่า แม้ชาวทิเบตในธรรมศาลาจะรู้สึกอุ่นใจที่ได้อยู่ไกล้กับองค์ดาไลลามะ แต่พวกเขาก็ได้สร้างสำนึกทางกายภาพและจิตใจว่า ธรรมศาลานั้นไม่ใช่ทิเบต สำนึกทางจิตใจนั้นก็คือตระหนักอยู่ตลอดว่าธรรมศาลาเป็นที่พำนักชั่วคราวและไม่ควรยึดติด ส่วนการสร้างสำนึกทางกายภาพก็คือการไม่พยายามทำให้ธรรมศาลา “เป็นทิเบต” เพียงเพื่อให้เกิดบรรยากาศถวิลหาหลอกๆ ธรรมศาลาไม่มีบ้านเรือนที่ตกแต่งแบบที่เรียกว่าคิทช์ (kitsch) ที่เป็นไปเพียงเพื่อสร้างรสนิยมความเป็นทิเบตเทียมให้เกิดขึ้น ต่างจากบ้านบางหลังในคูเมืองเชียงใหม่ที่เป็นตึกปูนเสาโรมันแต่มีกาแลแปะบนจั่ว
ข้าพเจ้าเองพบว่าสิ่งที่เคลา ดีห์ล ได้ศึกษาเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียว หนังสือของเธอดำเนินเรื่องโดยใช้ดนตรีเป็นประเด็นที่สะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกมา เธอพบว่า ความพยายามในการการอนุรักษ์วัฒนธรรมทิเบตที่ธรรมศาลานั้น เป็นไปทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา ประกอบกับการเผชิญหน้ากับอิทธิพลวัฒนธรรมกระแสหลักจากตะวันตกและจากอินเดีย หนุ่มสาวสมัยใหม่สนใจดนตรีร็อค แร็ป และ เพลงจากหนังบอลลีวู้ด ดนตรีของหนุ่มสาวทิเบตยุคใหม่มีรูปแบบที่เป็นไปตามสมัยนิยม แต่ดีห์ลก็พบว่าดนตรีแบบโมเดิร์นนี้มิใช่แค่การลอกเลียนแบบตะวันตก แต่มันมีนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการสำหรับหนุ่มสาวทิเบต “ความเป็นทิเบต” ถูกจินตนาการ แสดงออก และ ถกเถียงอย่างต่อเนื่องผ่านดนตรี
ข้าพเจ้าสนิทกับกลุ่มศิลปินหนุ่มสาวทิเบตบางคนและพบว่า ไม่เพียงแค่ดนตรีเท่านั้น ภาพเขียน ภาพถ่าย และภาพยนตร์ก็เป็นรูปแบบของการสื่อความคิดของพวกเขาถึงความเป็นทิเบตในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
Phun Anu Thanu หนังทิเบตโดยชาวทิเบตเรื่องแรกซึ่งกับโดยผู้กำกับหนุ่มสองคนวัยยี่สิบปลายเมื่อปี ๒๕๔๘ เป็นเรื่องรักใคร่ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งในธรรมศาลา หนังอินเดียก็เหมือนอาหารอินเดีย คือต้องมีให้ครบทุกรส แม้ว่าหนังแต่ละเรื่องจะมีแนวหลักไปแนวใดแนวหนึ่งแต่ในหนึ่งเรื่องก็ต้องมีให้ครบทุกแบบ ดรามา เศร้า แอ็คชั่น ตลก และที่ขาดไม่ได้ ฉากร้องเพลง! จงใจหรือไม่ก็ตาม หนังทิเบตโดยชาวทิเบตในอินเดียเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากการเล่าเรื่องและวางโครงสร้างแบบบอลลีวู้ดซึ่งเอาผู้กำกับนำเอามาใช้ได้อย่างสนุก หนังเป็นหนังตลกมีมุขขำเสียดสีฉลาดมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสะท้อนสังคมของผู้ลี้ภัยทิเบตในอินเดียได้อย่างดี ผู้ชมหัวเราะเฮฮาในฉากคอเมดี้โดยเฉพาะฉากที่นางเอกและพระเอกร้องเพลงจีบกันขำๆตามทุ่งหญ้าทุ่งนา แต่ฉากดรามาก็ซึ้งจับใจจนต้องหลั่งน้ำตา
ในบาร์มืดๆแห่งหนึ่งบนถนนหลักของตัวหมู่บ้านธรรมศาลา หนุ่มสาวทิเบตกับแบ็คแพ็กเกอร์ชาวต่างชาตินั่งถกปัญหาสังคมและสัจธรรมกันท่ามกลางเสียงเพลงบีทส์เร็วเบสหนักและเบียร์อินเดียรสจืด เป็นภาพที่คนภายนอกอาจมองดูขัดแย้ง เสียงเบสทุ้ม แอลกอฮอล์ กับปรัชญาของพระพุทธเจ้าไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่มันก็เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นทุกค่ำคืนในหมู่บ้านธรรมศาลา
ยามเช้านักท่องเที่ยวยังหลับไหล แต่ชาวทิเบตตื่นก่อนไก่ขันมาทำงานบ้านและจ่ายตลาด ความมีชีวิตชีวาของยามเช้าที่ผู้คนพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันด้วยความคุ้นเคย เป็นภาพแห่งความชีวิตที่ดู “จริง” กว่าบรรยากาศของหมู่บ้านในอีกสามสี่ชั่วโมงต่อมาเมื่อเริ่มสายนักท่องเที่ยวออกเดินหาช็อคโกแลตทรัฟเฟิลกินแก้แฮงก์โอเวอร์ บ้างหยิบซื้อสินค้าวัฒนธรรมประดิษฐ์เพื่อฝากคนทางบ้าน บ้างถ่ายรูปโคลสอัพใบหน้าผู้เฒ่าชราทิเบตเอาไว้อวดเพื่อนถึงประสบการณ์ต่างเมืองที่ได้มาเห็น
แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสระภาพของทิเบตนั้นเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยของคนที่นี่ แม้สังคมของพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยมาเกือบห้าสิบปีแล้วก็ตาม เท่าที่พบเห็น ชาวธิเบตส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในวิถีพุทธศาสนามหายานที่เน้นหลักเมตตา ความเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาทและการมองโลกด้วยความเป็นจริงตามหลักทางสายกลางวัชรยานซึ่งช่วยให้พวกเขามีความอดทนในการเรียกร้องอิสระภาพแบบอหิงสาและมีชีวิตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาเร็วช้าต่างกันไป ความพยายามที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้นเองคือความไม่รู้ ชาวทิเบตในธรรมศาลามีความเป็นอยู่ที่แสดงให้โลกเห็นว่าการเตรียมพร้อมเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงคือความรู้ ความไม่แน่นอนนี้รวมถึงหลักสัจธรรมเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าหรือโพธิสัตว์องค์ใดก็หนีไม่พ้น สำหรับชาวทิเบตเองและชาวต่างชาติมีหลายคนเป็นห่วงถึงวันที่ไม่มีองค์ดาไลลามะองค์ปัจจุบัน แต่ข้าพเจ้าไม่ห่วงเลย
....--==--==---====----=
กรุงเทพธุรกิจ ๑มิถุนายน ๒๕๕๑
<< Home