articles de dao

welcome to articles de dao. read...and travel on your own.

Saturday, March 29, 2008

จดหมายจากทิเบต

จดหมายจากทิเบต




เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การที่รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในทิเบตอย่างรุนแรงโดยไม่แยแสต่อความกังวลของสังคมโลก ทำให้สำนักข่าวหลายสถานีได้ภาพมาฉายเป็นข่าวให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกลุ่มนักรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องทิเบตได้มีโอกาสปลุกประเด็นปัญหาทิเบตขึ้นมาเป็นกระแสได้อีกครั้งหลังจากที่เงียบหายไม่มีใครสนใจอยู่หลายปี นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีและน่าเป็นห่วงในขณะเดียวกัน น่ายินดีคือผู้คนหันมาสนใจปัญหาอีกครั้ง แต่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่นำผู้คนหันมามองปัญหาคือความรุนแรงและการใช้กำลัง

ย้อนกลับไปกว่ายี่สิบปีที่แล้ว เมื่อองค์ดาไลลามะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ.2532 ชาวโลกต่างยกย่องวิธีการของท่านว่าเป็นการใช้หลักอหิงสาและเมตตา แม้แต่กับศัตรูผู้กดขี่ แต่ในปัจจุบันหลังจากเหตุการณ์สิบเอ็ดกันยายน ข่าวและความสนใจในประเด็นด้านสันติภาพและความขัดแย้งในโลกถูกจำกัดลงให้เหลือเพียงประเด็นปัญหาการก่อการร้ายและความรุนแรงภายในประเทศ สื่อปัจจุบันได้กลายเป็นเพียงสื่อที่เสนอข่าวเพื่ออรรถรส (Sensational Media) ยิ่งประเด็นข่าวที่จะนำมาออกอากาศมีภาพหรือคำพูดที่สร้างผลกระทบต่อโสตประสาทรุนแรงมากเท่าใด ยิ่งถือว่าน่าสนใจมากเท่านั้น เช่นภาพสงคราม การนองเลือด ภาพการระเบิด หรือคำสบถของผู้นำบางประเทศ เป็นต้น การดูข่าวในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรกับการรับชมความบันเทิงดาดๆ เช่นการเชียร์บอล ดูเกมส์โชว์หรือฟังสรยุทธ์

การดูข่าวชาวทิเบตประท้วงจึงเหลือเพียงการสังเกตการณ์หรืออย่างมากก็คอยลุ้นเชียร์ อย่างแย่คือเบื่อเอือมกับปัญหาความวุ่นวาย

เหตุการณ์การประท้วงและการปราบปรามในทิเบตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีพระสงฆ์และประชาชนเสียชิวิตเกือบมากกว่าหนึ่งร้อย สื่อนานาชาติและสื่อไทยโหมโรงอย่างพร้อมเพรียงจนเป็นข่าวต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถเสนอประเด็นปัญหาเชิงลึกได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันเอาเลย ระดับของปัญหาในเชิงโครงสร้างและนโยบาย ถูกลดทอนเหลือเพียงแค่ความน่าสนใจในประเด็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐและการปราบปรามที่รุนแรง การเสนอข่าวในรูปแบบนี้มีประสิทธิภาพสูงในการดึงดูดความสนใจและเร้าอารมณ์ผู้รับสารแต่ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหาอันจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวคิดของตัวบุคคลผู้รับสารหรือโครงสร้างแห่งปัญหาได้เลย ปัญหาเรื่องทิเบตจึงอาจจะน่าสนใจสำหรับผู้ชมแต่ไม่มีใครมองเห็นว่าตัวปัญหาที่แท้จริงหรืออะไรและทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร เป็นที่น่าเสียดายว่า หลายคน "รู้เรื่อง" แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย

หลายปีที่ผ่านมา หนุ่มสาวทิเบตที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว พวกเขาใช้ยุทธวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากองค์ดาไลลามะ เช่นการเดินขบวนประท้วง การยั่วยุตำรวจ การเผาธงชาติจีน หรือการอดอาหารจนตาย เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกหันมาสนใจประเด็นปัญหาเรื่องทิเบตอีกครั้ง แต่นี่ก็เป็นอีกความพยายามที่ตกอยู่ในหลุมพรางของสื่อที่มักง่าย สื่อเหล่านี้ไม่เคยออกแรงขยับตัวเพื่อเรียนรู้ประเด็นปัญหาอันซับซ้อนและลึกซึ้ง มีเพียงเหตุการณ์และประเด็นที่ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมอย่างสูงเท่านั้นที่พวกเขาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ บ่อยครั้งที่พวกเขาละทิ้งประเด็นสำคัญด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่า "ไม่มีภาพ"

สังคมปัจจุบันรับรู้ข่าวสารได้ในเพียงแค่ “ระดับปรากฏการณ์”จากสื่อกระแสหลักเหล่านี้ หลายคนบอกว่านี่คือปัญหางูกินหางหากประชาชนไม่พัฒนาวัฒนธรรมการรับฟังข่าวสาร สื่อก็ไม่พัฒนา และในทางเดียวกัน เมื่อสื่อไม่ปรับปรุงวัฒนธรรมการเสนอข่าว คุณภาพของสังคมก็ย่ำอยู่กับที่ไม่เดินหน้าไปไหน แต่ข้าพเจ้ามองว่ามุมมองเช่นนี้ไร้สาระ สังคมมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา สื่อก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือชั่วลง ความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงให้มีสิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งสิ้น

แนวคิดที่กลัวว่าเมื่อเสนอข่าวหนักแล้วประชาชนจะรับฟังน้อยลงนั้นเป็นความคิดของนักข่าวที่ไม่เอาไหนเสียเลย เขาตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรก เมื่อเอาปริมาณเรทติ้งเป็นตัวตั้ง ความตั้งใจที่จะเสนอข่าวที่มีสาระก็เป็นประเด็นรองแต่หากสื่อคิดใหม่ โดยเอาประเด็นปัญหาและสาระที่สำคัญเป็นปัจจัยหลัก แม้เนื้อเรื่องและภาพจะไม่หวือหวา แต่ก็ต้องมุ่งมั่นนำเสนอต่อประชาชนให้ได้เนื่องด้วยความรับผิดชอบ เมื่อมีมุมมองเช่นนี้ ประเด็นเรื่องเรทติ้งจะกลายเป็นความท้าทายให้มีการพัฒนาปรับปรุงกลวิธีการนำเสนอข่าวให้มีประสิทธิภาพ เพราะการนำเสนอเรื่องราวที่สำคัญให้ลึกซึ้งและรอบด้านเป็นสิ่งจำเป็นหลัก วิธีการคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และก่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม
สำหรับประเด็นปัญหาทิเบต ข้าพเจ้ามีความเป็นห่วงว่า หากสื่อกระแสหลักยังคงมีรูปแบบการหาและนำเสนอข่าวดังเช่นที่เป็นอยู่ กลุ่มผู้เรียกร้องอิสระภาพและสังคมทิเบตจะไม่สามารถยึดมั่นกับการต่อสู้แบบอหิงสาและเมตตาได้อีกต่อไป
เมื่อสองปีที่แล้วข้าพเจ้าทำงานอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตแห่งองค์ดาไลลามะในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสระภาพนั้นเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยของคนที่นี่ แม้สังคมของพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยมาเกือบห้าสิบปีแล้วก็ตาม เท่าที่พบเห็นโดยทั่วไปชาวทิเบตส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในวิถีพุทธศาสนามหายานที่เน้นหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งช่วยให้พวกเขามีความอดทนในการเรียกร้องอิสระภาพแบบอหิงสา แต่ก็มีหลายคนเริ่มเป็นห่วงถึงวันที่ไม่มีองค์ดาไลลามะ บ้างก็ว่าเวลาเหลือน้อยเต็มที ต้องหาทางออกในการลงมือทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง หนุ่มสาวทิเบตโดยเฉพาะกลุ่มที่โตและได้รับการศึกษาสมัยใหม่ในอินเดียและตะวันตก พวกเขาเริ่มที่จะเรียนรู้ว่าเมตตาและอหิงสานั้น "ไม่เป็นข่าว" แต่การเดินขบวน เผาธง ปีนสถานทูต และด่ารัฐบาลจีนนั้น "เป็นข่าว" กลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงและต่อต้านรัฐบาลจีนในทุกสถานการณ์และรูปแบบเท่าที่จะทำได้

องค์ดาไลลามะ รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และประชาชนทิเบตส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนการเจรจากับจีนเพื่อเรียกร้องรูปแบบเขตปกครองตนเองทิเบต (Greater Autonomy) มิใช่เรียกร้องการแยกประเทศ แนวคิดการเจรจานี้เรียกว่า นโยบายทางสายกลางแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต (The Middle Way Policy) โดยองค์ดาไลลามะมองว่าสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศอิสระนั้น คือการที่ชาวทิเบตได้มีโอกาสอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งแวดล้อมในทิเบต

ห้าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทิเบตถูกทำลายลงไปมาก สิ่งที่องค์ดาไลลามะเป็นห่วงและต้องการมายิ่งกว่าการได้ประเทศคืนคือการได้ปกป้องทิเบตจากกการถูกคุกคามทำลายธรรมชาติและริดรอนสิทธิในการมีชีวิตและความเชื่อแบบทิเบต

แม้ว่าสิทธิในการเรียกร้องอิสระภาพเป็นประเทศอิสระนั้นเป็นของชาวทิเบตและองค์ดาไลลามะอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมองจากมุมมองหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด แต่องค์ดาไลลามะและชาวทิเบตส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะรักษาสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศเป็นของตนเอง รูปแบบเขตปกครองตนเองที่องค์ดาไลลามะเรียกร้องนั้นคือการที่จีนอนุญาตให้ทิเบตมีรูปแบบการดำรงชีวิตวัฒนธรรมและความเชื่อของตนเองโดยไม่ต้องขึ้นกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรีจากรัฐบาลจีน ทิเบตต้องการเป็นเขตปลอดทหารและอาวุธรวมถึงการทดลองนิวเคลียร์ องค์ดาไลลามะต้องการให้ทิเบตมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและมีคณะรัฐมนตรีที่ทำงานบริหารเขตปกครองตนเองในประเด็นด้านสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ยินดีมอบอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศและการตัดสินใจส่วนกลางอื่นๆให้กับรัฐบาลจีน โดยถือว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ข้าพเจ้าขอจบท้ายจดหมายด้วยการชวนเชิญให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจประเด็นปัญหาจีน-ทิเบตติดต่อขอข้อมูลเรื่องการร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม INEB (International Network of Engaged Buddhists) ซึ่งกำลังหารือกับชาวทิเบตในประเทศไทยและคนไทยที่ห่วงใยกับประเด็นจีน-ทิเบตเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันในเร็วๆนี้ในรูปแบบการเสวนา การแสดงภาพยนตร์สารคดี และอาจมีการเดินขบวนหรือยื่นจดหมายส่งข้อเรียกร้อง ฯลฯ นอกจากงานในประเทศINEBยังทำงานกับกลุ่มคนทิเบตลี้ภัยในอินเดียและนักกิจกรรมชาวพุทธทั่วโลก ขอเชิญมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและการแสดงพลังแห่งอหิงสาด้วยใจ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวทิเบต เรียกร้องด้วยความจริงและความเห็นใจแม้แต่ต่อรัฐบาลจีนซึ่งได้ทำร้ายชาวทิเบตมานานหลายทศวรรษ เรียกร้องด้วยความนิ่งและความมุ่งมั่นโดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงหรือความเกลียดชังเป็นพลังขับ แต่ใช้ความรักความเข้าใจและความหวังดีแสดงออกให้ประทับใจมวลชนด้วยความงาม เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้สื่อมวลชนได้เข้าใจว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องไม่ได้ทำเป็นแค่การเดินขบวนสร้างสีสรรค์หรือกิจกรรมหวือหวารุนแรงเพื่อให้นักข่าวได้ภาพไปทำข่าว แต่เรียกร้องด้วยใจและสื่อความต้องการแห่งสันติภาพไปยังมนุษย์ทุกคนด้วยความจริงใจ


-------------------------

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท http://www.prachatai.com/05web/th/home/11708
และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://www.midnightuniv.org/midnighttext/0009999960.html