articles de dao

welcome to articles de dao. read...and travel on your own.

Thursday, April 19, 2007

จดหมายจากคิวบา:
ในวันนี้ที่อุดมการณ์ยังไม่ตาย Hasta la Victoria, Siempre

























๕ เมษายน ๒๕๕๐ อาบานา คูบา

บนโลกที่ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และโลกทรรศน์แบบทุนนิยมเสรีใครดีใครได้แผ่สืบสอดไปทั่วมุมหมู่บ้าน และเมืองใหญ่กลางเล็กทั่วโลก ยังมีอีกประเทศ อีกสังคม และอีกกลุ่มชน ที่ไม่ยอมรับระบบอันไม่เป็นธรรม ทั้งต่อมนุษย์ด้วยกันและต่อธรรมชาติ สาธารณรัฐคิวบา

ได้ยินกันอยู่เสมอ อุดมการณ์ตายแล้ว คอมมิวนิสต์ตายแล้ว สังคมทุนนิยมคือระบบที่เป็นไปได้จริงและดีที่สุด จีนเปิดประเทศและเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกพร้อมประกาศว่า ใครรวยได้รวยไปก่อน แล้วความเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยให้สังคมโดยรวมรุ่งเรืองตามไปเอง แม้แต่ลาว และเวียตนาม ก็ใช้นโยบายเดียวกันนี้กับระบอบการปกครองที่พวกเขาเรียกว่าคอมมิวนิสต์ จนหลายคนนึกไปว่าคอมมิวนิสต์คือระบบเผด็จการที่มีพรรคการเมืองเดียว อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตายแล้ว เหลือก็แต่ซากอันเป็นข้ออ้างของกลุ่มผู้ปกครองใน ลาว จีน เวียตนามที่เอาไว้ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ว่ากันอย่างนั้น

ก็ว่ากันไป แต่อุดมการณ์ยังไม่ตาย ยังมีอยู่โดยทั่ว ยังกินได้ และกินได้ดีกว่าความคิดมองโลกในแง่ร้าย เชิงแข่งขันชิงเด่นดี

คิวบา เกาะไม่ใหญ่ไม่เล็ก ยาวประมาณเชียงรายถึงระนอง กว้างขนาดกรุงเทพถึงอุบลฯ วางขวางตัวพาดกลางทะเลคาริบเบียนห่างจากไมอามี่ เมืองใหญ่ของรัฐฟลอริดาเพียงหนึ่งชั่วโมงบิน ผู้คนเกือบทั้งหมดของประเทศมีสภาพความเป็นอยู่พอกิน มีระบบการศึกษารักษาพยาบาลและสาธารณูปโภคที่ดีทั่วถึงและฟรี นี่คือผลของอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างสังคมอันเท่าเทียมและเป็นธรรม

ในคิวบา คนวัยทำงานมีรายได้เทียบเป็นเงินไทยตกเดือนละหนึ่งพันบาท แต่ข้าวของอาหารการกินถูกกว่าเมืองไทยหลายเท่า กาแฟแก้วละเจ็ดสิบสตางค์ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อกับข้าวผัดจานละสี่บาท ขนม นม น้ำ ก็อยู่ในราคาเดียวกันนี้ วิถีชีวิตและความสามารถในการจับจ่ายเทียบได้ประมาณชนชั้นกลางกึ่งล่าง
ในจังหวัดขนาดกลางของไทย แต่ความแตกต่างคือพวกเขาไม่ได้ถูกทำให้รู้สึกว่าจนอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าต้องหาเพิ่มต้องมีเพิ่ม รู้สึกด้อยกว่าจนกว่าเมื่อเทียบกับคนรวยหรือชนชั้นพ่อค้าข้างบ้าน ความรู้สึกที่ว่าตนไม่จนนั้น ทำให้คุณภาพจิตและมุมมองต่อชีวิตของชาวคิวบาแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากชนชั้นกลางไทย และในอีกหลายประเทศ เรียกได้ว่าประเทศนี้ไม่มีคนจน
ในคิวบา คนอ้วนหายาก ไม่มีใครมีเหลือกินเหลือใช้ฟุ่มเฟือย ทุกคนออกกำลังและทำงานเสมอ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ที่มีแต่โฆษณากระตุ้นการบริโภคอย่างบ้าคลั่งและละครหลังข่าวไร้คุณภาพ แต่มีหนังและสารคดีชั้นดีฉายให้ชมอยู่ตลอดเวลา















อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในคิวบาคือความเท่าเทียมกันของชนชั้นและชาติพันธ์ เท่าที่เคยประสบพบมาในหลายสังคมหลากมุมโลก ต้องยอมรับว่าไม่เคยจะเห็นสังคมใดที่คนขาวคนดำคนผิวแดงผิวเหลือง
จะมีสถานภาพทางสังคมเท่าเทียมกันได้ขนาดนี้ เด็กดำเด็กขาวเล่นเบสบอลข้างถนนด้วยกันโดยที่พ่อแม่ไม่มาคอยห้ามปรามกีดกัน
เหมือนในอเมริกา ยุโรป หรือ แอฟริกา
ลูกคนจีนตาเฉี่ยวกับเด็กคอเคเชียนตาสีฟ้าใสเดทกันเป็นคู่รักก็ไม่มีใครเห็นว่าแปลก

















ประเทศส่วนใหญ่ในโลกน ี้
สร้างสำนึกความเป็นชาติร่วมกันขึ้นมาด้วยความเกี่ยวเนื่องทางเผ่าพันธ์ แม้แต่อเมริกาที่ชอบพูดว่าผู้คนหลากหลายเชื้อชาติในประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกัน
แต่ตามพฤตินัย
เจ้าของประเทศคือคนขาว
โดยส่วนมากแล้ว ในเขตรัฐหนึ่งๆที่มีชนชาติหลากหลาย แต่ละชาติพันธ์และชนกลุ่มมักจะสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตน บ้างปรองดองกันได้ดี บ้างขัดแย้งอยู่เรื่อยไป แตกต่างไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มนั้นๆ คนกลุ่มน้อยที่ทำตัวเป็นคนกลุ่มใหญ่มักจะถูกล้อเลียน เช่นคนดำอยากเป็นคนขาว หรือในทางกลับกัน คนขาวที่อยากแต่งตัวเป็นคนดำและร้องเพลงแร็ปก็มักถูกเหน็บแนม แต่ในคิวบา ลักษณะการแสดงออกทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมต่างๆได้ถูกหล่อหลอมอย่างไม่แบ่งแยก
ทุกคืน ที่คาสา เด ลา มูสิกา(Casa de la Música) ผับเต้นรำระดับตำนาน บนฟลอร์จะมีหนุ่มตี๋ควงสาวผิวดำเต้นซาลซ่าอย่างร้อนแรง สาวผมทองสะบัดก้นเอวอ่อนอย่างที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามีแต่ผู้หญิงละตินผิวแทนเท่านั้นที่ทำได้ ทุกคนดูเป็นหนึ่งเดียวแต่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธ์

หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ฝั่งยุโรปตะวันตกได้เปลี่ยนแปลง
กลายเป็นประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี รวมทั้งลาว จีน และ เวียตนามที่กลายเป็นทุนนิยมเช่นกันแต่ยังไม่มีประชาธิปไตย
ใครๆก็คิดว่าคงจะถึงคราวของคิวบา

แต่วันนี้ คิวบาก็ยังคือคิวบา ประเทศสังคมนิยมที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์สร้างสังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม
และไม่เห็นแก่ตัว ประธานาธิบดีของคิวบา ฟิเดล คาสโตร ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่เป็นทหารเผด็จการความคิดคับแคบ เขาจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และเป็นนักวิชาการที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกเป็นอย่างดี บทปาฐกถาในที่ต่างๆรวมถึงหนังสือที่เขาเขียนขึ้น บ่งบอกว่าฟิเดลรู้ดีถึงประวัติศาสตร์การเงินระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง เขาเขียนวิเคราะห์แนวคิดเบร็ตตัน วูดส์ การออกพันธบัตรแบบใช้ทองคำสำรอง และ การก่อตั้งองค์กรการค้าโลกได้อย่างลึกซึ้งและอธิบายอย่างเป็นระบบว่า เนื้อหาโดยแท้จริงของสถาบันและระบบการเงินเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้ประเทศร่ำรวยสามารถรักษา ความได้เปรียบอยู่เสมอ แม้จะกล่าวอ้างย้ำอยู่เสมอถึงการสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาค แต่ในความเป็นจริง ความสามารถในการแข่งขันที่ไม่เท่ากันทำให้ประเทศยากจนเสียเปรียบและจนลงเรื่อยๆ รูปแบบระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ฟิเดลและนักเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลายคนประนามว่าเป็นจักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้ปืน หรือทหาร แต่ใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขู่บังคับ และการให้ความช่วยเหลือที่แนบมากับการควบคุม ซึ่งโดยเนื้อหาและผลลัพธ์นั้น ไม่ต่างไปจากการเอาเรือกลไฟไปจ่อเมืองหลวงแล้วบังคับให้เป็นเมืองขึ้น

หลังปฏิวัติสำเร็จ เมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว ฟิเดลโอนกิจการอุตสาหกรรมและธุรกิจหลายอย่างให้เป็นของรัฐ แต่ให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคจัดการกันเองโดยไม่ยึดรวมศูนย์ รัฐบาลใหม่ของฟิเดลออกกฎหมายจำกัดสินทรัพย์โดยไม่ให้ผู้ใดมีที่ดินเกินกำหนด ใครมีบ้านเกินหนึ่งหลังต้องเลือกเอาหนึ่งแล้วมอบที่เหลือให้รัฐนำไปมอบให้คนที่ไม่มี รัฐบาลสร้างสหกรณ์รับซื้อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์จากเกษตรกร
แล้วนำมาแบ่งคืนประชาชนที่ต้องใช้แรงงานด้านอื่น ส่วนที่เหลือนำมาจำหน่ายในราคาถูกหากผู้ใดต้องการเพิ่ม คิวบามีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ดีมาก อากาศไม่ร้อนไม่หนาวเฉลี่ย๒๕องศาตลอดปี ฝนตกดีหลายเดือน สินค้าหลักของคิวบาเดิมคือน้ำตาล ใบยาสูบ และ ซิการ์

ในอดีต คิวบาส่งออกค้าขายกับสหภาพโซเวียตและได้รับความช่วยเหลือในหลายๆด้าน จนพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำที่หลายประเทศต้องอิจฉา แต่เมื่อไม่มีโซเวียตแล้ว คิวบาก็ยังอยู่ได้ เมื่อสิบปีที่แล้ว เป็นปีที่แล้งและพืชพรรณได้รับความเสียหาย ส่งออกน้ำตาลได้น้อย ฟิเดลจึงระดมนโยบายสร้างความหลากหลายของรูปแบบสินค้าและการผลิต
และลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า เพื่อรับมือการอนาคตทางความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตร เน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ทุกวันนี้ สินค้าส่งออกที่โด่งดังของคิวบาไม่ใช่น้ำตาล และซิการ์ แต่เป็นโค้ช นักกีฬาอาชีพ และ หมอ ซึ่งรายได้ของพวกเขาที่ได้รับในต่างประเทศกว่าครึ่งจะถูกหักภาษีกลับมาช่วยในประเทศ

คนไทยคงคุ้นเคยดีถึงความสามารถของโค้ชและนักกีฬาคิวบา แต่ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากคือความก้าวหน้าทางการแพทย์
และการผลิตหมอได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ตามสถิติจากหนังสือพิมพ์แกรนมาของคิวบา ทั่วทั้งเกาะคิวบามีหมออยู่ ๗๑,๐๐๐ คน นับเป็นจำนวนเฉลี่ยต่อประชากรมากกว่าประเทศโลกที่หนึ่งหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ปีที่แล้ว มีนักศึกษาแพทย์รวมจำนวน ๑,๕๙๓ คน จาก ๒๖ ประเทศจบการศึกษาจากคิวบา คิวบาส่งแพทย์อาสาสมัครไปยัง๖๘ประเทศทั่วโลกโดยเน้นที่ประเทศยากจน นักศึกษาแพทย์เหล่านี้ไม่เพียงได้รับการศึกษาให้รักษาผู้ป่วยเป็นเท่านั้น แต่ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์เน้นการทำงานเพื่อผู้ยากไร้โดยไม่หวังความร่ำรวย ในพิธีจบการศึกษา พวกเขาทำพิธีสาบานว่าจะรักษาจริยธรรมทางการแพทย์ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใหนของโลก และจะทำงานเพื่อประชาชนโดยเน้นกลุ่มคนที่ยากลำบากที่สุดก่อน คิวบาส่งออกแพทย์เหล่านี้ในหลายประเทศแบบให้เปล่า ในสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินและสงคราม และเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาการแพทย์ในประเทศที่ยากจน

ที่ปากีสถานช่วงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเขตแคชเมียร์ครั้งใหญ่ในเมื่อสองปีที่แล้ว หมอจากคิวบาสู้หนาวช่วยผู้บาดเจ็บอยู่ตามเขตภูเขาและเมืองหลัก ข้าพเจ้าเห็นพวกเขาซื้อเสื้อกันหนาวในตลาดที่กรุงอิสลามาบัด ทุกคนดูอ่อนน้อมถ่อมตนปนตลกโก๊ะกังสไตล์คิวบา ทำให้ชาวปากีสถานพูดคุยต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดี หมอคิวบาเหล่านี้ไม่มีทีท่าขี้โอ่หยิบโหย่งเหมือหมอหลายคนจากประเทศอื่นๆ

กับเวเนซูเอลา ประเทศที่ประกาศตัวต่อต้านระบบจักรวรรดินิยมอเมริกา คิวบาแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือทางการแพทย์กับน้ำมันซึ่งเวเนซูเอลามีอยู่มากมายมหาศาล เป็นการแลกเปลี่ยนโดยไม่ใช้เงินหรือการคำนวณเป็นค่าเงิน ต่างกับการแลกข้าวกับเครื่องบินรบระหว่างไทยกับรัสเซีย ประเทศในเขตละตินอเมริกาที่มีรัฐบาลจากฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเช่นนิคารากัว โบลิเวีย เวเนซูเอลา และคิวบา ต่างรวมตัวเป็นพันธมิตรและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อสองวันก่อน ข้าพเจ้าถามคนขับแท็กซี่ในเมืองคามากูเอยทางภาคกลางของคิวบาว่า คิวบาแลกหมอกับน้ำมันจากเวเนซูเอลา แต่นิคารากัวเป็นประเทศยากจนจะแลกเอาอะไร คนขับแท็กซี่บอกซื่อๆ ‘ก็ไม่ต้องแลก เราก็ช่วยไปก่อน วันไหนนิคารากัวมีอะไรก็ค่อยให้มา’ ความคิดแบบนี้รัฐมนตรีประเทศทุนนิยมและซีอีโอหลายบริษัทคงคิดไปไม่ถึง อุดมการณ์แบบนี้ใช้ตรรกะแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายไม่ได้
ข้าพเจ้าทึ่ง คารวะเขาไปสามทีแล้วส่งซิการ์รสแรงแท่งละสองบาทให้หนึ่งมวน

คิวบาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเมื่อสิบปีที่ผ่านมา แต่เปิดอย่างระมัดระวังและมีแผนการรองรับอย่างเป็นระบบ นักท่องเที่ยวจะต้องแลกเงินที่มีอัตราแพงกว่าปรกติกว่ายี่สิบห้าเท่าเพื่อใช้จ่ายในคิวบา ชาวต่างชาติต้องพักและใช้รถโดยสารระหว่างเมืองที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่สามารถใช้บริการหรือซื้อสินค้าในราคาที่รัฐอุดหนุดเช่นยารักษาโรคได้ ต้องจ่ายในอัตราอื่น เช่นวิตามินซีทีชาวต่างชาติต้องซื้อในราคาจริง ประมาณกล่องละสามดอลล่าห์ คนคิวบาแสดงบัตรและซื้อได้ในราคาเพียงสองบาท โดยรวมแล้ว คิวบามีระบบรองรับนักท่องเที่ยวที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพอสมควร ที่น่าชื่นชมคือการไม่ใช้ถุงพลาสติกเลยในร้านค้า ทุกคนต้องใช้มือถือหรือนำถุงมาเอง หน่วยงานพัฒนาโครงสร้างรองรับการท่องเที่ยวนำเงินที่ได้จากบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์
มาปรับปรุงตึกเก่าๆในเมือง สร้างงานเพิ่ม และมอบเงินที่เหลือส่งเข้ารัฐบาล หลายคนมองว่าการท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ในเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ข้าพเจ้าพบว่ามีกลุ่มคนที่คอยหากินกับนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และ สถานีขนส่ง ถึงแม้จะน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเช่นไทย อิตาลี หรือ อินเดีย แต่ก็อดเป็นห่วงในอนาคตไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงที่ชาวคิวบาสังเกตได้คือ
สินค้านำเข้าหลายอย่างที่เคยขาดแคลนก็เริ่มมีการนำมาจำหน่าย เพราะมีอุปสงค์และเงินตราต่างประเทศพอซื้อ นักดนตรีที่เคยไม่มีงานก็กลับมารวมตัวกันเล่นตามผับ และร้านอาหารหาเงินจากนักท่องเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกำ ความปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นแล้ว แต่เกิดขึ้นอย่างช้าๆและไม่รีบร้อน

ฟิเดล คาสโตรอายุจะแปดสิบในปีนี้ เขาป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อปีที่แล้ว โดยมอบอำนาจการบริหารประเทศให้กับราอูล คาสโตร น้องชายของเขา นักวิเคราะห์คาดการว่าคงจะไกล้ถึงคราวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคิวบาแล้ว หลายคนมองว่านี่คงเป็นจุดสุดท้ายของระบอบคอมมิวนิสต์ในคิวบา แต่ชาวคิวบาอีกมากยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ เขาบอกกับข้าพเจ้าว่า สังคมแบบคิวบานี้ ชาวคิวบาทุกคนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม และความดีงามของระบบ แม้จะถึงวันที่ไม่มีฟิเดล คาสโตร พวกเขาก็จะรักษาและพัฒนามันได้ต่อไป ระบบนี้ก้าวต่อไปด้วยความเสียสละและความเข้าใจของทุกหน่วยในสังคม มิใช่ด้วยปลายกระบอกปืนและการขู่บังคับ

------------------------
















------------------

นิตยสารปาจารยสาร ฉบับเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๕๐

http://www.semsikkha.org/review/index.php?option=com_content&task=view&id=333&Itemid=68