articles de dao

welcome to articles de dao. read...and travel on your own.

Thursday, July 12, 2007

จดหมายจากอดีต: เรื่องการศึกษาพุทธแบบเซ็นในเกาหลี

จดหมายจากอดีต:
เรื่องการศึกษาพุทธแบบเซ็นในเกาหลี




หนังสือเซ็นหลากปกหลายคำโปรยในร้านหนังสือและห้องสมุดไทยได้สร้างกระแสให้หลายปี
ที่ผ่านมาคนไทยวัยแสวงหาได้หันมาสนใจเซ็น บ้างสนใจจริงๆจัง บ้างอ่านเอาคูล ก็ว่ากันไป ข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในอดีตคนไทยวัยแสวงหาซึ่งได้อ่านหนังสือหนังหาเกี่ยวกับเซ็นมาบ้าง จนกระทั่งปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ลงเรียนวิชา Zen Buddhism as Religion ซึ่งเปิดสอนโดยดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ลูกศิษย์ลูกหาเคารพรักใคร่ด้วย อุปนิสัยส่วนตัวและความน่ารักของอาจารย์ ใครที่เคยได้เจอท่านก็จะรู้สึกประทับใจในความ เย็น อันเป็นเอกลักษณ์
เรียนวิชาเซ็นกับอาจารย์ประมวล เราไม่เคยต้องอ่านหนังสือ ฟังเลคเชอร์
หรือ ทำอะไรนอกจากคุยกัน ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากมายกว่าการอ่านตำรา
หนังสือเซ็น สิ่งหนึ่งที่ติดใจและทำให้สนใจเกี่ยวกับเซ็นในเกาหลีใต้คือได้ทราบจากอาจารย์ ประมวลว่าเคยมีพระไทยไปอยู่ในวัดเกาหลีเพื่อศึกษาพุทธสายเซ็น

หลังจากเรียนจบและทำงานอยู่สองสามปีจนเข้าวัยเบญจเพสเมื่อปี๒๕๔๗ ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้เพื่อบวชและปฏิบัติธรรมในแบบเซ็นตามที่ได้ตั้งใจไว้ ขั้นตอนการบวชเรียนของข้าพเจ้าในเกาหลีนั้นได้รับข้อยกเว้นมากมาย เพราะขั้นตอนการบวชในเกาหลีตามพิธีปฏิบัติจริงนั้นซับซ้อนมีหลายขั้นใช้เวลาหลายปี ดังจะกล่าวบทไปในย่อหน้าถัดจากนี้

การบวชเป็นพระในเกาหลีนั้น เป็นการบวชตลอดชีวิต ไม่มีวัฒนธรรมการบวชเรียนเพื่อเป็นทิด
เหมือนไทย ลาว และ กัมพูชา การจะเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณีเต็มขั้น(สึนีม)ในเกาหลีได้นั้น
เป็นเรื่องลำบาก มีขั้นตอนมากมายซึ่งใช้เวลายาวนาน ต้องอุทิศทั้งกายและใจมุ่งมั่นปฏิญานไตร่ตรองให้ไถ่ถ้วนดี อันดับแรกของเส้นทางการเป็นพระเกาหลีคือต้องบวชเป็นสามเณรฝึกหัดเสียก่อนเป็นเวลา
หกเดือนถึงหนึ่งปี ไม่ว่าผู้บวชจะมีอายุเท่าใดก็ยังไม่สามารถเป็นภิกษุภิกษุณีได้ทันที อุบาสกอุบาสิกาบางท่านเพิ่งเริ่มบวชหลังเกษียณแล้วก็ยังต้องบวชเป็นสามเณรฝึกหัดก่อน
ไม่มีข้อยกเว้น สามเณรผึกหัดในขั้นนี้มีชื่อเรียกว่า เฮงจา หรือ เฮงจาสึนีม สามเณรฝึกหัดนี้ยังไม่ต้องปลงผม เผื่อว่าอาจถอดใจ มีชุดเครื่องแบบสีน้ำตาล ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าจีวรได้หรือเปล่า เพราะเป็นชุดแบบมีกางเกง เสื้อ และเสื้อคลุมสำหรับ
หน้าหนาว ส่วนรองเท้าอะไรก็ได้ พระเกาหลีส่วนมากใส่รองเท้ากีฬาเพราะนุ่มสบาย หน้าที่ของเฮงจาสึนีมในวัดก็คือทำงานทั่วไป กวาดวัด ล้างจาน
เคาะกลองไม้เรียกสวดมนตร์ ฯลฯ พูดง่ายๆคือว่าต้องทำงานใช้แรงงาน หากมีเวลาว่างก็ท่องบทสวดซึ่งเป็นภาษาเกาหลี และมีบ้างที่เป็นภาษาจีน (พระไตรปิฎกเกาหลีแปลมาจากภาษาจีน)

วัดที่ข้าพเจ้าบวชนั้นมีอุบาสกอุบาสิกาอาศัยอยู่ด้วยพอสมควร จึงไม่ต้องทำงานหนักมากนัก ทราบว่าในบางวัด เฮงจาสึนีมทำงานกันหนักมากตั้งแต่เช้าจนเย็นก็มี เป็นธรรมเนียมปรกติ
ของวัดเกาหลี อุบาสกอุบาสิกาที่ใฝ่ธรรมะมักจะมาอาศัยอยู่กินในวัดเลย โดยทำงานต่างๆ
ช่วยวัด พระเกาหลีไม่ออกบิณฑบาต เพราะอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้จะทำอาหารให้ภายในวัด
ฉันสามเวลา เช้าตรู่ เที่ยง และ ก่อนค่ำ โดยภายในวัดแทบทุกวัดมักจะมีโรงครัว แปลงผัก และแปลงฝังไหกิมจิชนิดต่างๆ สร้างไว้เป็นสัดส่วน พระในเกาหลีฉันแต่มังสวิรัติ บรรยากาศและธรรมเนียมการฉันอาหารภายในวัดนั้น มีพิธีกรรมเล็กน้อยที่น่าสนใจ
หลายอย่าง เช่นการกำหนดตำแหน่งการนั่ง การใช้ตะเกียบ การตักและทานอาหาร ฯลฯ เงื่อนไขหนึ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติเวลาทานอาหารในวัดเกาหลีคือต้องทานอาหารให้หมด ข้าวทุกเม็ดต้องไม่เหลือ และเมื่อทานเสร็จแล้ว ต้องเอาน้ำเปล่าเทใส่ถ้วยข้าว ล้างถ้วย
จนสะอาด แล้วก็ดื่มน้ำในถ้วยนั้นให้หมด เป็นอันจบพิธี
ผู้มาเยือนวัดครั้งแรกๆหรือแขกชาวต่างชาติมักตื่นเต้นที่จะได้ลองทานอาหารตามพิธีกรรมนี้ เพราะน้ำที่ล้างถ้วยจะมีสีแดงขุ่นๆของน้ำกิมจิมองดูไม่น่าดื่มนัก แต่พอดื่มก็จะแปลกใจว่ารสชาติก็เหมือนน้ำเปล่าไม่น่าขยะแขยงอะไรเลย ข้าพเจ้าอนุมานเอาว่าเป็นพิธีกรรมที่ตั้งใจสอนให้ผู้ปฏิบัติได้ตระหนักในคุณค่าอาหารและ
ได้ฝึกตัดอุปาทานเรื่องความน่ากินและไม่น่ากิน

เมื่อบวชเป็นเฮงจาสึนีมครบหกเดือนหรือหนึ่งปี ซึ่งก็แล้วแต่ธรรมเนียมวัดและความเห็นของ
เจ้าอาวาส ก็จะมีการอัพเกรดให้เป็นสามเณรเต็มขั้น สามเณรขั้นนี้เรียกว่า สามิสึนีม
สามเณรีเรียก สามินีสึนิม ชุดเครื่องแบบของสามิสึนีมจะเหมือนกับเฮงจาสึนีมแต่เปลี่ยน
เป็นสีเทาเหมือนภิกษุและภิกษุณีเต็มขั้น พิธีกรรมการอัพเกรดจากเฮงจาสึนีมเป็นสามิสึนีมนั้นเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรเพราะเรียกว่า
ผู้บวชได้ผ่านบททดสอบแรกมาได้ ในวันพิธีจะมีญาติโยมและคนในชุมชมมาร่วมงานเอาบุญ
กันเต็มวัด โดยปรกติจะมีการปลงผมด้วย แต่ข้าพเจ้าขอปลงผมไปก่อนตั้งแต่เป็น
เฮงจาสึนีมแล้ว (พระเกาหลีไม่โกนคิ้ว)

เจ้าอาวาสทราบว่าข้าพเจ้ามีเวลาไม่นานและมาบวชเรียน ไม่ได้บวชตลอดชีวิต โดยได้คุยจนท่านเข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยเพื่อการศึกษาพุทธศาสนา และท่านคงเห็นว่าข้าพเจ้ามีความตั้งใจและสนใจจริง จึงให้บวชเป็นสามิสึนีมได้หลังจากเป็นเฮงจาไม่ถึงเดือน วันที่ข้าพเจ้าอัพเกรดเป็นสามิสึนีมนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบเลยว่าพิธีกรรมจะเป็นรูปแบบใด เช้าวันพิธีหลวงพ่อเอาชุดมาให้ข้าพเจ้าก็เพียงเอาชุดมาเปลี่ยนแล้วก็ขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ
เพื่อเข้าพิธี พิธีเริ่มโดยเจ้าอาวาสถามข้าพเจ้าว่าแน่ใจหรือว่าต้องการบวชเป็นสามิสึนีม ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่าแน่ใจ แต่เจ้าอาวาสก็ถามกลับมาอีกครั้งว่าแน่ใจหรือไม่ ข้าพเจ้าตอบ
กลับไปว่าแน่ใจ แต่เจ้าอาวาสก็ยังถามกลับมาอีกเป็นครั้งที่สาม ข้าพเจ้าจึงนึกออกว่าการถามสามครั้งนี้เป็นพิธีเดียวกับการบวชของเถรวาท เพียงแต่ข้าพเจ้า
ลืมนึกไป เพราะปรกติจะถามและท่องสวดตอนบวชเป็นภาษาบาลี เมื่อถามตอบกันครบ
สามครั้งแล้ว เจ้าอาวาสก็บอกให้ยื่นแขนออกมา ข้าพเจ้าก็ยื่นออกไปด้วยความซื่อ แล้วท่านก็จับแขนไว้แล้วเอาธูปมาจะจี้ที่ลำแขน ข้าพเจ้าตกใจเสียงหลงถามว่าจะจี้จริงๆหรือ ท่านบอกว่าจริงสิ จะจี้สามครั้ง คนในพิธีหัวเราะกันใหญ่ว่าข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะต้องมีการเอาธูปจี้แขนกันเช่นนี้ เจ้าอาวาส
บอกให้ทำใจ แล้วจี้ลงไปสามครั้งเป็นจุดต่อเนื่องกัน คิดว่าเจ็บหรือไม่อย่างไรก็ลองดูเอาเอง
ตามสบาย ส่วนเรื่องการเอาธูปจี้นั้นมาทราบภายหลังว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน จี้สามครั้งหมายถึงการน้อมเอาพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ มาเป็นสรณะ ส่วนในจีนก็มีการใช้ธูปจี้เหมือนกัน แต่เป็นที่หน้าผาก จี้หกจุด (คงเคยเห็นพระเส้าหลินของจีน หรือตัวการ์ตูนคุหลินในดราก้อนบอล) คิดว่าคงเจ็บกว่ากันน่าดู จี้ธูปเสร็จแล้วก็ไม่มีอะไรมาก
รับศีลสามเณร สวดมนตร์นั่งสมาธิ ฉันอาหารเที่ยงเป็นอันเสร็จพิธี

สามิ และ สามินีสึนีมจะถือศีลสิบข้อ และตามธรรมเนียมคือต้องมีครูซึ่งเป็นภิกษุเต็มขั้นเป็นผู้ให้คำแนะนำโดยตลอด โดยในช่วงหนึ่งปีของการเป็นสามิสามินีสึนีมจะต้องคอยรับใช้ครูและรับคำสั่งสอนนำไปปฏิบัติ ส่วนครูก็มีหน้าที่ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา หรือตักเตือนแนะนำ ระหว่างที่บวช สิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสสั่งให้ข้าพเจ้าทำอยู่ตลอดก็คือคำสั่งให้ “Observe your mind” ซึ่งฟัง
ดูง่าย แต่เมื่อได้ฝึกดูแล้ว จะพบว่ามันเป็นการกระทำที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ คือเมื่อนั่งหลับตาลง และเริ่มคิดว่าจะสังเกตดูจิตของตน ก็จะพบว่าตัวความคิดที่จะสังเกตจิตนั้นเองคือจิต เมื่อคิด
ได้เช่นนี้ ก็จะเกิดคำถามว่า อ้าว แล้วถ้าอย่างนั้นใครเฝ้าสังเกตใคร ในเมื่อจิตเป็นผู้สังเกต มันจะแยกตัวออกจากจิตที่ถูกสังเกตได้หรือไม่ แล้วเราจะสังเกตจิตตนเองได้อย่างไร ฯลฯ

ขั้นต่อมาของการเป็นสามิและสามินีสึนีมคือการเข้าเรียนในวิทยาลัย ซึ่งสามิและสามินีสึนีมจะได้เรียนรู้พระธรรมให้ลึกซึ้ง มีการเรียนอักษรจีน และพิธีกรรมต่างๆที่ต้องทราบเมื่อจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี มหาวิทยาลัยพุทธในเกาหลีมีหลายที่
เช่น มหาวิทยาลัยอุยดุก มหาวิทยาลัยดงกุก มหาวิทยาลัยกึมกัง และ
มหาวิทยาลัยพุทธยงซาน วอน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีวิชาให้เลือกหลากหลายรวมถึงด้านทางโลกเช่นจิตวิทยา
มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ฯลฯ หลักจากเรียนครบสี่ปี ซึ่งก็คือได้จบการศึกษาระดับ
ปริญญาตรี (ส่วนสามเณร และ สามเณรีที่จบปริญญาตรีแล้วก็มักจะเรียนปริญญาโท หรือ
ปริญญาตรีอีกใบ) เมื่อเรียนจบแล้วและครูเห็นว่าเหมาะสม สามเณร และสามเณรี ก็จะได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ภิกษุณี (ภิกษุณีเกาหลีรับศีล ๓๔๘ ข้อ) และเข้าเป็น
สมาชิกเต็มของสังฆะในสังกัดนิกาย

การบวชในเกาหลีนั้นมีกฎว่าผู้บวชต้องจบการศึกษาขั้นม.๖ เสียก่อน และอาจต้องขออนุญาต ผู้ปกครองหากยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องเป็นโสด และมีข้อห้ามอีกข้อคือต้องมีร่างกายสมบูรณ์
ไม่เป็นผู้พิการ โดยมีเหตุผลว่าการเป็นพระในเกาหลีนั้นมีการฝึกอย่างเข้มงวดซึ่งต้องใช
้ร่างกายอย่างหนัก สตรีส่วนใหญ่ที่มาบวชส่วนมากจะอายุเกินยี่สิบปีแล้วและจบปริญญาตรี
เป็นอย่างน้อย

พุทธศาสนาเข้ามายังเกาหลีจากประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ. ๙๑๕ การบวชภิกษุและภิกษุณีในเกาหลีก็เริ่มมีมาตั้งแต่นั้นปัจจุบันพุทธศาสนาในเกาหลีนับถือ
หลักมหายานแบบเซ็น เซ็นในภาษาเกาหลีออกเสียงว่า ซ็อน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากคำว่า
ฌาน ในภาษาบาลี นิกายโชกีเย ซึ่งเป็นนิกายหลักของเกาหลี มีวัดอยู่ประมาณ ๑,๘๐๐ วัด
ซึ่งในจำนวนนี้ มี๘๐๐วัดที่เป็นวัดของภิกษุณี เมื่อมีการนับจำนวนสอบถามในปี๒๕๔๐
ในนิกายนี้ มีภิกษุเพียง ๓๕๐๐รูป ภิกษุณี ๒,๙๐๐รูป สามเณร ๒,๗๐๐รูป และ สามเณรี
๒,๙๐๐รูป ครอบครัวชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนับสนุนให้ลูกบวช และวัดก็ไม่เคยไป
เรียกร้องให้ใครมาบวช ผู้ที่มาบวชทุกคนคือผู้ที่มีใจศรัทธาและมุ่งมั่นจริงๆเท่านั้น จำนวน ภิกษุภิกษุณีจึงมีน้อย

ธรรมเนียมการนั่งสมาธิแล้วมีพระเอาไม้มาตีหลังคนสัปหงกเหมือนที่เห็นในการ์ตูนอิคคิวซังนั้น
ในเกาหลีไม่นิยม แต่มีพิธีกรรมหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์อยู่ เรียกว่า คิโด หนึ่งในวัตรปฏิบัติของ
เกาหลีตามธรรมเนียมมหายานที่ใช้วัดใจผู้มีศรัทธาในศาสนาพุทธ ไทยเรียก อัฐฎางคประดิษฐ์ คือการกราบแบบแนบตัวลงทั้งตัวแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ โดยในแต่ละการกราบจะต้องมีสติเต็ม เป็นการใช้แรงกายและใจสูงมาก หากไม่ตั้งใจจริงๆอุทิศตนจริงๆคงไม่มีใครอยากจะกราบแบบนี้ เพราะแค่ทำสักสิบครั้งก็เหนื่อยแล้ว เจ้าอาวาสทราบว่าข้าพเจ้าต้องการบวชแบบเร่งรัด จึงให้กราบอัฐฎางคประดิษฐ์หนึ่งร้อยแปดครั้งเป็นเวลาเจ็ดวันระหว่างที่เป็นเฮงจาสึนีม
ข้าพเจ้าลองทำดู หลังจากแค่วันแรกเข่าก็ร้อนเป็นไฟแทบลุกจากที่นอนไม่ขี้น แต่แล้วก็เริ่มดีขึ้นบ้างหลังจากสองสามวันผ่านไป พระเกาหลีหลายคนกำหนดตนว่า จะกราบวันละหนึ่งพันครั้งเป็นเวลาสามปี หรือไม่น้อยกว่านั้นแล้วแต่ศรัทธา
ในธิเบต ชาวบ้านจะธุดงค์ขั้นภูเขาด้วยการกราบและเคลื่อนตัวไปด้านหน้าเช่นนั้นไปเรื่อยๆ เป็นการตั้งมั่นจิตและต้องออกแรงกายเป็นอย่างมากซึ่งแสดงถึงศรัทธาต่อพระศาสนา

พูดถึงการศึกษาในระดับปริญญาของสามิ สามินีสึนีมนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปเรียนร่วมโดยตรง แต่ได้คุยและพบปะกับสามิ และ สามินีสึนีมอยู่เป็นประจำ เจ้าอาวาสของข้าพเจ้าก็เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงฆ์ถึงสองแห่ง จึงพอได้ทราบและรับรู้เรื่องราวด้านนี้อยู่บ้าง เมื่อพูดคุยกับนักศึกษาสามิสามินีจะพบว่าพวกเขาร่ำเรียนกันหนักทีเดียว บางคนก็เรียนภาษาบาลีสันสกฤตเพื่ออ่านทำความเข้าใจหลักธรรมตามรากคำเดิมให้ลึกซึ้ง เราคนไทยนั้นได้เปรียบอยู่บ้างที่ได้ใช้ภาษาเหล่านี้อยู่ประจำทำให้มีความเข้าใจตามสมควร (แต่ก็ต้องเข้าใจว่าภาษาธรรมกับภาษาบาลีสันสกฤตในไทยนั้นความหมายต่างไปตามกาล
เวลาและรูปแบบในการใช้) สามิสามินีเหล่านี้แทบทุกคนจะได้ศึกษาธรรมเกี่ยวกับเรื่อง
ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา สุญญตา และนิพพานโดยตรง ซึ่งก็เป็นไปตามแนวมหายาน
แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อเรียนจบได้บวชเป็นภิกษุภิกษุณีแล้ว พวกเขามักจะทิ้งตำราไปเลย และไปเน้นที่การปฏิบัติภาวนา การโต้แย้งพูดคุยกันเรื่องธรรมะแบบพร่ำเพรื่อนั้นเรียกว่า
เป็นการ indulge และหมกมุ่น ไม่ลงมือทำเสียที เมื่อเรียนรู้ได้ความแล้ว หนทางเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์คือการลงมือดำเนินชีวิตตามมรรคาและตั้งใจปฏิบัติภาวนา

การเรียนรู้แบบเซ็น คือการเรียนแบบไม่เน้นตำรา เพราะตั้งแต่อดีต เซ็นเกิดขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดทางภาษาทางตำราและปัญหาการตีความ หลวงพ่อตั๊กม้อ ผู้ให้กำเนิดลัทธิเซ็นจึงเน้นสอนที่การบรรลุรู้แจ้งจริงด้วยตนเอง เป็นวิธีทำลายตรรกะด้วยคำพูดและความคิดแบบใหม่ เหมือนกับพระสายวัดป่าแถบภาคอีสาน
ของไทย ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากอุปสรรคในการศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกจึงหันไปเน้นไป
ที่การภาวนา เซ็นก็มีต้นกำเนิดคล้ายกันนี้เอง
ระหว่างที่บวช ข้าพเจ้าถามเจ้าอาวาสว่ามีหนังสือเล่มใดแนะนำให้อ่านหรือไม่ ท่านกลับบอกว่าอย่าอ่านมากเลย หยุดอ่านได้เสียก็ดี ถ้ามีเวลาก็ให้นั่งสมาธิและตั้งใจเฝ้า
สังเกตดูจิตต่อไป

หากท่านเคยศึกษาเกี่ยวกับเซ็น คงทราบว่าในญี่ปุ่น พระสงฆ์และสามเณรจะมีการใช้ โกอัง
ในการฝึกทำสมาธิ เกาหลีเรียก ฮวาดู เป็นคำถามไร้ตรรกะซึ่งผู้ฝึกจะรับเอาจากครูและนำเอา มากำหนดจิตให้เฝ้าหาคำตอบตลอดทั้งวัน เมื่อนั่งสมาธิ จิตจะกำหนดอยู่ที่ฮวาดูนี้ และเฝ้าศึกษาคำถามโดยหวังว่าว่าจะได้รับคำตอบออกมา ซึ่งคำตอบจะมาก็ต่อเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสติในระดับจิตสำนึกซึ่งทำให้ผู้ฝึกมองเห็น
และเข้าใจสรรพสิ่งด้วยความเป็นจริง เป็นอิสระจากอุปาทาน วาทกรรม และอวิชชา
คำถามยอดฮิตก็ได้แก่ “เสียงของการปรบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร” หรือ “ฉันเป็นใคร”

เจ้าอาวาสของข้าพเจ้านั้น วันที่พบกันครั้งแรก ท่านบอกว่าฉายาของท่านคือ จอง อา แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Blue I” ข้าพเจ้าจึงถามว่าแปลว่าอะไร ท่านก็บอกว่าให้เอาไปคิด
เอาเอง ข้าพเจ้านึกเพียงสองนาทีก็ตอบไปด้วยความอวดดีว่า “Blue I is No I”
ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า ยังไม่ถูก เพราะที่ให้คิดน่ะ ไม่ได้ให้เอาไว้หาคำตอบ


นิตยสารปาจารยสาร ปีที่๓๒ ฉบับที่ ๑ กันยายน-ตุลาคม ๒๕๕๐

------------------------------------

















ตามความเชื่อมหายาน พระพุทธเจ้าสมณะโคดมเป็นเพียงหนึ่งในพระพุทธเจ้าหลายองค์จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตซึ่งมีมากมายดั่งเป็นจำนวนกรวดทรายในท้องสมุทร
















every day is a good day


















กับเจ้าอาวาส


















ในวัดภิกษุณีบนภูเขา